การสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองในแต่ละปีนั้นง่ายขึ้นเรื่อยๆ แต่การสร้างเว็บขายของออนไลน์สำหรับธุรกิจกลับต้องใช้การวางแผนและความใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ดีควรมีฟีเจอร์สำคัญ เช่น ชื่อโดเมนที่กำหนดเอง อินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย (UI) ดีไซน์เว็บไซต์ที่ดึงดูดใจ ระบบตะกร้าสินค้าและการชำระเงินที่ราบรื่น และการปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะกับการค้นหา (SEO)
ในฐานะเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก คุณมีตัวเลือกผู้ให้บริการสร้างเว็บขายของให้เลือกมากมาย ไม่ว่าคุณจะเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไหนก็ตาม ขั้นตอนการสร้างเว็บขายของเพื่อเปิดร้านออนไลน์มักจะคล้ายกัน ซึ่งเราจะพาคุณไปดูทีละขั้นตอนในคู่มือนี้
วิธีสร้างเว็บขายของใน 6 ขั้นตอน
- กำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย
- เลือกชื่อโดเมนและโฮสติ้ง
- ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์
- ปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะกับการค้นหา (SEO)
- เปิดตัวและทำการตลาดเว็บไซต์
- ติดตามและปรับปรุงเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง
การเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ มีหลายอย่างคล้ายกับการเปิดร้านค้าจริง คุณต้องระบุกลุ่มเป้าหมาย ทำความเข้าใจและเชื่อมต่อกับพวกเขา เชิญชวนให้เข้ามาช้อปปิ้ง และสร้างประสบการณ์การซื้อที่น่าประทับใจจนสามารถปิดการขายได้ นี่คือ 6 ขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้คุณสร้างเว็บขายของออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ
1. กำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย
ความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของคุณขึ้นอยู่กับความสามารถในการเชื่อมต่อกับนักช้อปออนไลน์ที่ต้องการซื้อสินค้าของคุณ ก่อนเริ่มขายของออนไลน์ ควรใช้เวลาเตรียมตัวดังนี้
-
กำหนดกลุ่มเป้าหมายของคุณ กลุ่มเป้าหมายหมายถึงกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าจริง ซอฟต์แวร์ หรือบริการของคุณมากที่สุด ศึกษาพฤติกรรมทั่วไป ปัญหาที่พบเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ลักษณะนิสัย และข้อมูลประชากรของตลาดเป้าหมาย แล้วสร้าง Buyer Persona เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในอนาคต
-
วิเคราะห์คู่แข่ง ค้นหาว่าใครกำลังแข่งขันกับคุณเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินจากการช้อปออนไลน์ของลูกค้า ทำการวิเคราะห์คู่แข่งและวิเคราะห์ตลาดโดยรวม แล้วใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อหาตำแหน่งทางการตลาด (Market Niche) ที่เหมาะสมสำหรับแบรนด์ของคุณ
- วิเคราะห์ตัวเอง พิจารณาว่าอะไรทำให้บริษัทของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง อะไรที่คุณสามารถมอบให้ลูกค้าได้ในแบบที่คนอื่นให้ไม่ได้ ประเมินไอเดียธุรกิจอีคอมเมิร์ซของคุณโดยการทำ SWOT Analysis (วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง) เพื่อค้นหาจุดขายเฉพาะตัวของธุรกิจ
2. เลือกชื่อโดเมนและโฮสติ้ง
เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากนิยมเริ่มสร้างเว็บขายของออนไลน์ด้วยตัวช่วยจากเว็บไซต์สำเร็จรูป คุณควรเลือกแพลตฟอร์มที่มีระบบร้านค้าออนไลน์ในตัว เพื่อให้สามารถลงรายการสินค้าและขายผ่านหน้าเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย นี่คือขั้นตอนหลักในการเตรียมเปิดเว็บอีคอมเมิร์ซของคุณ
-
เลือกชื่อโดเมนเฉพาะของคุณ ชื่อโดเมนคือที่อยู่ดิจิทัลของเว็บไซต์ ชื่อโดเมนที่ดีควรสั้น จดจำง่าย และสะท้อนแบรนด์ได้ชัดเจน คุณสามารถใช้เครื่องมือสร้างชื่อธุรกิจของ Shopify เพื่อค้นหาและเช็กชื่อโดเมนที่ยังว่างได้ทันที เมื่อเลือกชื่อที่เหมาะสมได้แล้ว ให้ซื้อและจดทะเบียนโดเมนนั้น
-
เลือกผู้ให้บริการสร้างเว็บไซต์ ศึกษาหาข้อมูลผู้ให้บริการสร้างเว็บขายของที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจ เช่น Shopify, Squarespace, WordPress หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยควรมองหาแพลตฟอร์มที่มีระบบอีคอมเมิร์ซในตัว ซึ่ง Shopify เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการจัดการทุกอย่างตั้งแต่โฮสติ้ง สต๊อกสินค้า ไปจนถึงระบบชำระเงินในที่เดียว
- ซื้อบริการโฮสติ้งเว็บไซต์ บริการโฮสติ้ง คือการเช่าเซิร์ฟเวอร์สำหรับจัดเก็บเว็บไซต์ของคุณและให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไป คุณจะต้องเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์แบบรายเดือนหรือรายปี ราคาค่าบริการโฮสติ้งจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของธุรกิจ แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่างประมาณ 180 บาท ถึง 1,800 บาทต่อเดือน (5 ถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
3. ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์
ผู้ให้บริการสร้างเว็บไซต์ เช่น Shopify, Wix, Weebly และ Squarespace มาพร้อมระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ที่ช่วยให้คุณออกแบบรูปลักษณ์เว็บไซต์ได้อย่างอิสระ นี่คือองค์ประกอบสำคัญที่ควรใส่ใจในการออกแบบเว็บขายของ
-
ออกแบบเพื่อกลุ่มเป้าหมายของคุณ การออกแบบเว็บไซต์สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ดีควรเลือกใช้ภาษาภาพที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ เช่น โทนสี ไอคอน ฟอนต์ และกราฟิก โดยคำนึงถึงความชอบของกลุ่มเป้าหมาย คุณสามารถหาแรงบันดาลใจจากไอเดียการออกแบบเว็บอีคอมเมิร์ซ หรือใช้เทมเพลตสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับ CMS ได้
-
สร้างประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UI) ที่เรียบง่ายและเป็นมิตร อินเทอร์เฟซผู้ใช้งาน (UI) คือโครงสร้างหน้าเว็บ การออกแบบ และการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับเว็บไซต์ ไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน แพลตฟอร์มอย่าง Shopify มีเทมเพลตเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ออกแบบมาให้ลูกค้าสามารถท่องเว็บได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่การเลือกสินค้าจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน
- สร้างเนื้อหาสำหรับเว็บไซต์ของคุณ เนื้อหาบนเว็บขายของควรรวมถึงข้อมูลสินค้า รูปภาพ และอาจมีบล็อกหรือสื่อเสียง-ภาพเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการของคุณ นอกจากนี้ คุณสามารถเปิดโอกาสให้ลูกค้ารีวิวสินค้าได้ด้วย เพราะรีวิวจากผู้ซื้อจริงช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและกระตุ้นยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะกับการค้นหา (SEO)
SEO หรือ Search Engine Optimization คือการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์เพื่อให้ติดอันดับบนหน้าผลลัพธ์การค้นหา การสร้างเว็บขายของที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการค้นหา จะช่วยให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยปรับปรุงอันดับ SEO ของคุณ
-
ศึกษาพื้นฐานของ SEO: SEO เว็บไซต์คือหนึ่งในรูปแบบการทำการตลาดดิจิทัล เป้าหมายคือทำให้เว็บไซต์ของคุณปรากฏในตำแหน่งสูงๆ บนหน้าผลลัพธ์การค้นหา (SERPs) เทคนิคที่สำคัญ ได้แก่ การเขียนเนื้อหา SEO เพิ่มประสิทธิภาพ SEO บนหน้าเว็บไซต์ (On-page SEO) และการเพิ่มลิงก์เชื่อมโยงภายใน (Internal Backlinks) เพื่อช่วยให้เว็บไซต์มีโอกาสปรากฏในอันดับต้นๆ ของการค้นหามากขึ้น คุณสามารถใช้เช็กลิสต์ SEO เพื่อไม่ให้พลาดขั้นตอนสำคัญ
-
ทำการวิจัยคีย์เวิร์ด: คีย์เวิร์ดคือคำหรือวลีที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพิมพ์ลงในเครื่องมือค้นหา การใช้โปรแกรมวิจัยคีย์เวิร์ดจะช่วยให้คุณรู้ว่าผู้คนกำลังค้นหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ แล้วนำคีย์เวิร์ดเหล่านั้นมาเขียนเนื้อหา SEO เพื่อตอบโจทย์การค้นหา
- ตั้งค่า Google Analytics: Google Analytics เป็นเครื่องมือฟรีที่ช่วยให้คุณติดตามทราฟฟิกเว็บไซต์และพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชม เช่น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในแต่ละหน้า อุปกรณ์ที่ใช้เข้าเว็บไซต์ และแหล่งที่มาของทราฟฟิก (เช่น จากการค้นหา โซเชียลมีเดีย หรือการคลิกลิงก์จากเว็บไซต์อื่น) ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้คุณประเมินผลและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5. เปิดตัวและทำการตลาดเว็บไซต์
เมื่อคุณสร้างเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยและปรับแต่งเพื่อรองรับการค้นหาแล้ว ก็ถึงเวลานำเว็บไซต์ออกสู่สายตาและเริ่มขายสินค้าออนไลน์ นี่คือแนวทางในการทำการตลาดให้กับร้านค้าอีคอมเมิร์ซของคุณ
- เลือกช่องทางการขาย: ช่องทางการขาย (Sales Channel) คือเส้นทางที่คุณใช้เชื่อมต่อกับลูกค้า เช่น การขายตรงถึงผู้บริโภค (B2C) การขายให้กับธุรกิจ (B2B) การขายส่ง หรือการขายผ่านมาร์เก็ตเพลสสมัยใหม่อย่าง Google Shopping ที่ช่วยส่งผู้ค้นหามาที่เว็บไซต์ของคุณ การเลือกใช้หลายช่องทางการขาย จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากหลากหลายทาง
- โปรโมตร้านค้าผ่านโซเชียลมีเดีย: การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียช่วยเพิ่มทราฟฟิกมายังเว็บขายของ สร้างการรับรู้แบรนด์ และเชื่อมต่อกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรง การโพสต์อย่างสม่ำเสมอและการตอบคอมเมนต์จากผู้ใช้งาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนจำนวนมหาศาลที่ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกวัน นอกจากนี้ เครื่องมือบริหารโซเชียลมีเดียจะช่วยให้คุณจัดการงานได้ง่ายขึ้น อย่ามองข้ามพลังของการขายผ่าน TikTok และ Instagram โดยเฉพาะถ้าธุรกิจของคุณเติบโตจากการบอกต่อหรือรีวิวปากต่อปาก
- ขอรีวิวจากลูกค้า: รีวิวจากลูกค้าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าใหม่รู้สึกมั่นใจในการซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ของคุณ ขณะเดียวกัน รีวิวเชิงลบก็สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการได้เช่นกัน คุณสามารถส่งแบบสอบถามความพึงพอใจทางอีเมล หรือขอให้ลูกค้าเขียนรีวิวที่หน้าสินค้าหลังจากทำการซื้อสำเร็จ ผลสำรวจพบว่า 42% ของผู้บริโภคเชื่อถือรีวิวออนไลน์เท่ากับการแนะนำจากคนรู้จัก
6. ติดตามและปรับปรุงเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง
แม้จะเปิดตัวเว็บไซต์ไปแล้ว คุณก็ยังสามารถพัฒนาและยกระดับเว็บขายของของคุณได้เรื่อยๆ นี่คือ 3 กลยุทธ์สำคัญที่ควรนำมาใช้
ติดตั้งปลั๊กอินอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติม: แพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ที่เน้นอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopify ช่วยให้คุณติดตั้งปลั๊กอินเสริมต่างๆ เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานได้ เช่น หากคุณต้องการบริการจัดส่งสินค้า ก็สามารถค้นหาแอปจัดส่งจาก Shopify App Store เพื่อช่วยคำนวณค่าจัดส่งหรือพิมพ์ฉลากจัดส่งได้สะดวก
เพิ่มเนื้อหาใหม่อยู่เสมอ: ทำให้เว็บไซต์มีความสดใหม่อยู่ตลอด ด้วยการเพิ่มเนื้อหาใหม่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกโพสต์ วิดีโอ หรือการลงสินค้าใหม่ เนื้อหาที่มีคุณภาพและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ช่วยทั้งกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และช่วยเพิ่มมูลค่า SEO ให้กับเว็บไซต์ของคุณได้
เพิ่มสิทธิพิเศษที่ลูกค้าชื่นชอบ: กระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์อีกครั้งด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เช่น โปรแกรมสะสมแต้มสำหรับลูกค้าประจำ รหัสส่วนลดผ่านจดหมายข่าวอีเมล หรือแผนชำระเงินแบบแบ่งจ่าย (เช่น Shop Pay ของ Shopify) ที่ให้ลูกค้าผ่อนจ่ายสินค้าได้สะดวกขึ้น
ติดตามทราฟฟิกและพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ: ใช้เครื่องมืออย่าง Google Analytics และระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ เพื่อติดตามว่าลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าออนไลน์ของคุณอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้วางแผนแคมเปญการตลาด พัฒนาสินค้าใหม่ และปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับการค้นหาได้ดียิ่งขึ้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีสร้างเว็บขายของ
มีวิธีสร้างเว็บขายของโดยไม่ต้องใช้ประสบการณ์เขียนโค้ดหรือไม่?
ทำได้แน่นอน ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์สร้างเว็บไซต์สมัยใหม่ที่ช่วยให้การสร้างเว็บง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านการเขียนโค้ด เช่น WordPress, Squarespace, Weebly และ Wix นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะ เช่น Shopify ให้เลือกใช้งานได้อีกด้วย
วิธีสร้างเว็บขายของให้รองรับการใช้งานบนมือถือ มีอะไรบ้าง?
การเลือกใช้แพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ที่มีระบบออกแบบให้รองรับการใช้งานบนมือถือ (Mobile Responsive) โดยอัตโนมัติ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด ปัจจุบันแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ชั้นนำอย่าง Shopify ต่างก็รองรับการแสดงผลบนมือถืออย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากกว่า 45% ของทราฟฟิกเว็บไซต์ในไทย มาจากอุปกรณ์มือถือ
วิธีติดตามสถิติเว็บขายของเพื่อวัดความสำเร็จ ทำยังไง?
สามารถใช้เครื่องมือฟรี เช่น Google Analytics และ Google Search Console เพื่อติดตามทราฟฟิกเว็บไซต์และพฤติกรรมผู้เยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเชิงลึกแบบเสียค่าใช้จ่าย เช่น Ahrefs และ Semrush สำหรับวิเคราะห์เพิ่มเติม หากใช้ Shopify ในการสร้างร้านค้าออนไลน์ก็สามารถเข้าถึงรายงานและข้อมูลการวิเคราะห์ต่างๆ เช่น การแปลงยอดขาย สต๊อกสินค้า และพฤติกรรมลูกค้าได้อย่างครอบคลุม