การเริ่มทำธุรกิจเป็นงานหนัก เพราะมีลิสต์สิ่งที่ต้องทำแบบที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ จ้างพนักงาน ไปจนถึงการจัดการสินค้าในสต๊อกและการผลิตสินค้า
แต่ถ้าวันนี้คุณสามารถจ้างผู้ผลิตให้ทำสินค้าของคุณให้พร้อมขายในทันที ก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีใช่มั้ย? และนี่คือสิ่งที่ผู้ค้าปลีกหลายรายทำ โดยจ้างให้ซัพพลายเออร์ทำสินค้าในรูปแบบที่เรียกว่า "Private Label"
Private Label คือสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตภายนอก (องค์กรที่สาม) ตามข้อกำหนดที่ผู้ค้าปลีกกำหนด ซึ่งผู้ค้าปลีกจะทำการตลาดและขายสินค้านั้นภายใต้แบรนด์ของตนเอง
อ่านต่อ เพื่อทำความรู้จักกับ "Private Label" และวิธีสร้างสายผลิตภัณฑ์ฉลากส่วนตัว
Private Label คืออะไร?
Private Label หมายถึงสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทหนึ่งและขายภายใต้ชื่อแบรนด์ของบริษัทอื่น ผู้ค้าปลีกมักใช้ก Private Label เพื่อเสนอสินค้าพิเศษ ขยายไลน์สินค้า และตัดราคาคู่แข่ง
Private Label อาจมีลักษณะคล้ายกับสินค้าที่มีอยู่แล้วในร้านค้า แต่สูตรการผลิตที่แน่นอนของสินค้าจะต้องเป็นเอกลักษณ์ เช่น ถ้าธุรกิจ Private Label คือการขายคุกกี้ช็อกโกแลตชิปสักกล่อง สูตรคุ้กกี้นี้จะเป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถพบได้ภายใต้แบรนด์อื่น เช่นเดียวกับแบรนด์ฉลากส่วนตัวที่ขายสินค้าต่างๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ และเสื้อผ้า
Private Label เป็นยังไง?
โมเดลธุรกิจฉลากส่วนตัวประกอบด้วยบริษัท 2 แบบ ได้แก่
- ผู้ผลิต Private Label ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าของธุรกิจ เพื่อออกแบบและผลิตสินค้า
- ผู้ค้าปลีก Private Label ที่สร้างแบรนด์ ทำการตลาด และขายสินค้าตราห้างให้กับลูกค้า
ผู้ผลิต Private Label ที่เชื่อถือได้จะรับประกันคุณภาพสินค้าและควบคุมต้นทุนการผลิต
ส่วนผู้ค้าปลีก Private Label ก็สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับแบรนด์ในหมู่ผู้บริโภค ทำการโฆษณา และตั้งค่ารูปแบบการตั้งราคาที่ทำกำไร
ฉลากส่วนตัว vs. สินค้าฉลากขาว
หลายครั้งที่คนมักจะสับสนระหว่าง Private Label และ White Label โดยฉลากขาวก็เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตภายนอกที่ผลิตสินค้าในนามของผู้ค้าปลีกเช่นกัน แต่ไวท์เลเบลจะไม่ถูกออกแบบเฉพาะ
ผู้ผลิตไวท์เลเบลจะผลิตสินค้าทั่วไปจำนวนมากแล้วขายให้กับผู้ค้าปลีกแต่ละราย และผู้ค้าปลีกจะขายสินค้านั้นให้กับผู้บริโภคภายใต้ชื่อแบรนด์ของตนเอง
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สายผลิตภัณฑ์ Private Label มีเอกลักษณ์และขายเฉพาะผ่านผู้ค้าปลีกเดียว (เช่น Kirkland Signature ของ Costco หรือ Amazon’s Basics) ในขณะที่สินค้าฉลากขาวเป็นสินค้าทั่วไปที่ขายภายใต้แบรนด์ของผู้ค้าปลีกหลายๆ ราย
5 ข้อดีของ Private Label
- มีความเป็นเอกลักษณ์
- ทำกำไรได้สูง
- ควบคุมราคาได้ตามต้องการ
- กลยุทธ์การตลาดยืดหยุ่น
- ปรับตัวได้ตามสถานการณ์
1. มีความเป็นเอกลักษณ์
ผู้ผลิตฉลากส่วนตัวสามารถออกแบบและขายสินค้าที่แตกต่างจากแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ในฐานะผู้ประกอบการฉลากส่วนตัว คุณสามารถพัฒนาความคิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รู้จักในฐานะสินค้าที่ไม่เหมือนใคร
ผู้ค้าปลีกบางราย (และมักจะเป็นผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่) ใช้ไพรเวทเลเบล เพื่อสร้างกลุ่มสินค้าที่มี Value และตัดราคาคู่แข่ง แต่ธุรกิจขนาดเล็กอาจเลือกใช้ Private Label เพื่อพัฒนาสินค้าพรีเมียมที่ไม่สามารถผลิตได้ด้วยตนเอง
2. ทำกำไรได้สูง
Private Label มักมีอัตรากำไรสูงกว่าสินค้าที่ซื้อมาขายต่อ ผู้ค้าปลีกอาจเลือกตั้งราคาให้สูงสำหรับสินค้า Private Label ที่ไม่ซ้ำใคร หรือใช้พลังของแบรนด์ที่มีอยู่เพื่อลดต้นทุนการตลาด ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของสินค้าที่ผลิต รวมถึงระดับการคัสต้อม โดยผู้ผลิตอาจสามารถเสนอผลิตภัณฑ์แบบ Private Label ในราคาทุนที่ต่ำกว่าสินค้าแบบซื้อมาขายไป
3. ควบคุมราคาได้ตามต้องการ
ผู้ขายและผู้ผลิต Private Label สามารถปรับต้นทุนการผลิตและราคาสำหรับสินค้าของตัวเองได้ และยังสามารถทดลองใช้กลยุทธ์การตั้งราคาที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มอัตรากำไรได้เช่นกัน
4. กกลยุทธ์การตลาดยืดหยุ่น
ในฐานะผู้ค้าปลีก Private Label คุณสามารถเลือกแคมเปญการตลาดที่ใช้ในการโปรโมทสินค้าได้ และไม่จำเป็นต้องทำตามแคมเปญเดิมๆ ตามแบรนด์ใหญ่ที่บางครั้งอาจไม่ยืดหยุ่นและล้าสมัย
5. ปรับตัวได้ตามสถานการณ์
อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีสำหรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในการเปลี่ยนสูตรสินค้า ราคาหรือกลยุทธ์การตลาด ในขณะที่ผู้ขาย Private Label สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้ค้าสามารถตอบโจทย์ฟีดแบ็กเชิงลบหรือยอดขายที่ต่ำได้ในทันที พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด
ข้อเสียของ Private Label
แม้จะมีข้อดี แต่ Private Label ก็มีข้อเสียเช่นกัน ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่สินค้าจะไม่สอดคล้องกันและความท้าทายในการสร้างแบรนด์จากศูนย์
การพึ่งพาผู้ผลิตภายนอก
หนึ่งในข้อเสียหลักของการทำ Private Label คือการพึ่งพาผู้ผลิตภายนอก หากผู้ผลิตประสบปัญหา เช่น ความล่าช้าในการผลิตหรือปัญหาคุณภาพ ก็อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ขายฉลากส่วนตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดแคลนสินค้า ความไม่พอใจของลูกค้า และความเสียหายต่อภาพของแบรนด์
นวัตกรรมที่มีความยืดหยุ่นน้อย
เมื่อคุณร่วมงานกับบริการ Private Label อาจมีข้อจำกัดในระดับของการคัสต้อมสินค้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและประเภทผลิตภัณฑ์ ผู้ค้าปลีกอาจไม่ได้ควบคุมกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ และเพิ่มการทำงานที่ใกล้ชิดระหว่างคุณและซัพพลายเออร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจง
สินค้า 6 ประเภทที่นิยมผลิตแบบ Private Label
คุณอาจแปลกใจที่พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคและแบรนด์ใหญ่ๆ หลายราย ผลิตสินค้าแบบ Private Label ในความเป็นจริง โมเดลไพรเวทเลเบลนั้นมีอยู่ในทุกหมวดหมู่สินค้า ทั้งในร้านค้าออนไลน์และร้านค้าจริง
ตัวอย่างสินค้า Private Label
- กาแฟ
- อาหารสัตว์เลี้ยง
- หลอดไฟ LED
- อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์
- เสื้อผ้า
- ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล
1. กาแฟ
กาแฟ Private Label ได้รับความนิยมอย่างมากบนอินเทอร์เน็ต แบรนด์กาแฟหลายแห่งใช้ผู้จัดส่งกาแฟที่ส่งชุดกาแฟไปยังลูกค้าโดยตรงเมื่อมีออเดอร์
2. อาหารสัตว์เลี้ยง
ร้านขายสัตว์เลี้ยงหลายแห่งขายอาหารสัตว์เลี้ยง Private Label ที่ผลิตโดยโรงงานขนาดใหญ่ที่ให้บริการลูกค้าหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านขายสัตว์เลี้ยงออนไลน์
3. หลอดไฟ LED
ตลาดออนไลน์เต็มไปด้วยหลอด LED Private Label ซึ่งสินค้าแต่ละอย่างก็อาจมีการออกแบบที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ได้มาจากผู้ผลิตไม่กี่ราย
4. อุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟน
อุปกรณ์เสริมมือถือที่คุณซื้อ เช่น สายชาร์จ เคสโทรศัพท์ ฯลฯ ต่างก็ผลิตโดยผู้ผลิต Private Label และขายภายใต้ชื่อแบรนด์ของบริษัทอื่น
5. เสื้อผ้า
ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าออนไลน์หลายรายใช้ผู้ผลิต Private Label ทั้งเสื้อเชิ้ต เดรส กระโปรง รองเท้า กระเป๋าถือ และอื่นๆ ซึ่งผู้ผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้สามารถสั่งพิมพ์ดีไซน์ที่ต้องการบนเสื้อผ้าได้ และอาจเสนอการตัดเย็บ รวมถึงงานสินค้าที่ทำจากหนังแบบคัสต้อม
6. ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล
ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลมากมาย ตั้งแต่ยาสีฟัน ไปจนถึงเครื่องสำอาง มาจากผู้ผลิตที่ให้บริการแบบ Private Label สูตรสำเร็จของสินค้าเหล่านี้จะถูกปรับแต่งสำหรับลูกค้าเฉพาะ แต่ได้รับการผลิตบนสายพานเดียวกัน
3 แบรนด์ตัวอย่างที่ทำ Private Label
พบ 3 ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่เปิดตัวแบรนด์ Private Label ได้อย่างจึ้งและประสบความสำเร็จ
(ข้อสังเกต: คุณไม่จำเป็นต้องทำสินค้า Private Label ภายใต้แบรนด์แยกต่างหาก เพราะหากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก อาจเลือกที่จะรวมผลิตภัณฑ์ Private Label ให้เป็นส่วนหนึ่งของสายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วได้)
1. Kirkland Signature
เปิดตัวในปี 1995 โดย Kirkland Signature เป็นแบรนด์ Private Label ของ Costco ซึ่งรวมถึงสินค้าหลายรายการที่ผลิตโดยซัพพลายเออร์รายใหญ่ และเป็นที่รู้จักในเรื่องการนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่าสำหรับผู้ซื้อ
ยกตัวอย่าง เช่น วอดก้าของ Kirkland Signature ซึ่งได้รับการเปรียบเทียบในเชิงบวกกับแบรนด์ระดับสูงอย่าง Grey Goose หรือ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ของ Kirkland Signature ซึ่งได้รับการรับรองจาก USDA ว่าเป็นออร์แกนิก
Kirkland เป็นตัวอย่างของสายผลิตภัณฑ์ Private Label ที่เติบโตจนเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับประเทศและกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ค้าปลีก โดยภายในปี 2023 ยอดขายผลิตภัณฑ์ Kirkland คิดเป็น 23% ของรายได้รวมของ Costco
2. Amazon Basics
Amazon Basics เปิดตัวในปี 2009 และช่วยให้ Amazon สามารถทำส่วนแบ่งยอดขายจากผู้ค้าปลีกอื่นๆ ในตลาดของตนเอง
สายผลิตภัณฑ์ Private Label ภายใต้ชื่อแบรนด์ Amazon เองนำเสนอทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง และสินค้าราคาประหยัดอื่นๆ และมักจะมีราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าแบรนด์อื่นๆ ในหมวดสินค้าเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์ Amazon Basics ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสายชาร์จ ซึ่งได้รับรีวิวและคำชมในเรื่องราคาย่อมเยา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตอย่างเป็นทางการอย่าง Apple ที่ตั้งราคาอุปกรณ์เสริมไว้สูงลิบลิ่ว
ผลิตภัณฑ์ Private Label ที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ชุดผ้าปูที่นอนไมโครไฟเบอร์ ซึ่งได้รับการรีวิวจากลูกค้ามากกว่า 380,000 ครั้ง
3. Harrods Own Label
ไม่เหมือนกับ Amazon Basics และ Kirkland Signature แบรนด์ที่ใช้ Private Label เพื่อลดราคาให้สินค้า แต่ห้างสรรพสินค้าหรูในสหราชอาณาจักรอย่าง Harrods ใช้แบรนด์ Private Label เพื่อเสนอสินค้าพรีเมียม
แบรนด์ของ Harrods ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท รวมถึงอาหาร เครื่องดื่มระดับพรีเมียม แฟชั่นหรู อุปกรณ์เสริม และสินค้าใช้ในบ้าน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ชา ที่บรรจุในกระป๋องพรีเมี่ยมแบรนด์ Harrods และขายในราคาแพงกว่าสินค้าที่คล้ายกันจากผู้ค้าปลีกอื่นๆ
สรุปลักษณะสำคัญของ Private Label
- Private Label ผลิตโดยซัพพลายเออร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแบรนด์
- โมเดลธุรกิจนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ใช้ Private Label สร้างแบรนด์และสินค้าราคาถูก
- ปัจจุบันผู้ผลิต Private Label ยังร่วมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อผลิตสินค้าที่ไม่เหมือนใคร และสินค้าพรีเมียม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Private Label
Private Label หมายถึงอะไร?
Private Label คือรูปแบบการผลิตและขายสินค้า โดยให้บริษัทหนึ่งผลิตสินค้า และอีกบริษัททำการสร้างแบรนด์ การตลาด และขายสินค้านั้น ซึ่งผู้ขาย Private Label จะเป็นคนดีไซน์ จัดแคมเปญ และตั้งราคาให้กับสินค้า ส่วนด้านการควบคุมคุณภาพสินค้าและรับประกันจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต
Private Label และสินค้าแบรนด์ ต่างกันยังไง?
สินค้าของแบรนด์แบบดั้งเดิม คือการที่บริษัทผลิตสินค้าขึ้นมาขาย โดยมักใช้เวลาหลายปีในการสร้างตัวตนแบรนด์ และสินค้าต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ในขณะที่โมเดลธุรกิจ Private Label คือการให้บริษัทหนึ่งผลิตสินค้าและอีกบริษัทหนึ่งทำการตลาดและเป็นผู้จำหน่าย โดยสินค้าเหล่านี้อาจไม่สามารถสร้างตัวตน หรือความภักดีต่อลูกค้าได้ เมื่อเทียบกับสินค้าแบรนด์
ทำไมห้างขายปลีกถึงทำ Private Label (สินค้าตราห้าง)?
ห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่งหันมาใช้ Private Label เพื่อมุ่งเน้นการขายปลีกและสร้างแบรนด์ โดยหลีกเลี่ยงความซับซ้อนของการผลิต ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ทำกำไรสูงสุดของห้างคือ Private Label ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เยลลี่ ไปจนถึงไข่สด ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ของห้างเดียวกัน ทำให้ห้างไม่ต้องรับภาระในการดำเนินการ ไม่ต้องติดต่อโรงสีข้าว โรงงานผลิตเยลลี่ และฟาร์มไก่โดยตรง แต่ให้ซัพพลายเออร์จัดหาสินค้าให้ และทางห้างเองเพียงมุ่งเน้นที่การขายและการตลาด เพื่อสร้างอัตรากำไรที่สูงขึ้น
ตัวอย่างที่ดีของโมเดล Private Label คืออะไร?
แบรนด์ของใช้ในบ้านของ Costco ที่ชื่อ Kirkland Signature ได้กลายเป็น Private Label ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดย Costco วางขายสินค้าหลายรายการที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น ผ้าอ้อมของ Kirkland ผลิตโดยบริษัทเดียวกันที่ผลิตผ้าอ้อม Huggies
จะเริ่ม Private Label ของตัวเองได้อย่างไร?
การเริ่มต้น Private Label ทำได้จากการหาไอเดียสิรนค้า และเมื่อคุณพบหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในเทรนด์ คุณจะต้องหาซัพพลายเออร์ที่รับผลิต Private Label ในส่วนของสินค้านั้นๆ จากนั้นติดต่อผู้ผลิตโดยตรง สอบถามราคาและกระบวนการผลิต และพิจารณาว่ารายละเอียดนั้นๆ เหมาะสมแค่ไหน อย่างไร โดยคุณจะต้องเป็นคนจัดการงานด้านการสร้างแบรนด์และการตลาด ซึ่งจะทำเองหรือจ้างเอเจนซี่ก็ได้ และเมื่อคุณมีครบทั้งทีมผู้ผลิตและทีมสร้างแบรนด์ ก็หมายความว่าคุณก็พร้อมที่จะเปิดตัวสินค้า Private Label ของตัวเองแล้ว