ทุกๆ วัน ผู้ใช้ YouTube รับชมวิดีโอรวมกันมากกว่าพันล้านชั่วโมง (ใช่แล้ว พันล้านจริงๆ) แต่มีธุรกิจขนาดเล็กเพียง 9% เท่านั้นที่กล้ากระโดดเข้ามาเปิดช่องของตัวเอง ในขณะที่การใช้งาน YouTube ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่ธุรกิจที่ยังไม่มีช่อง YouTube จะกระโดดเข้ามาร่วมวงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ในคู่มือนี้ เราจะพาคุณมาสำรวจกลยุทธ์ดีๆ เพื่อการสร้างช่อง YouTube สำหรับแบรนด์ของคุณให้ประสบความสำเร็จ พร้อมเรียนรู้วิธีเริ่มต้นช่อง YouTube สำหรับธุรกิจกัน เพื่อให้คุณสามารถสร้างสรรค์วิดีโอที่ลูกค้าเก่าชอบ ลูกค้าใหม่ก็อยากติดตาม
ข้อดีของการมีช่อง YouTube
การเริ่มต้นช่อง YouTube จะช่วยให้คุณได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และยังมีข้อดีอีกมากมาย อาทิ
- มีคนเข้าชมเพิ่มขึ้น: YouTube เป็นเสิร์ชเอนจินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่นี่จึงเป็นที่ที่ดีในการเข้าถึงคนที่กำลังมองหาคอนเทนต์วิดีโอที่ให้ความรู้ และ/หรือควบคู่ไปกับความสนุก
- มีคนรู้จักแบรนด์มากขึ้น: การตลาดทางวิดีโอช่วยให้คนรู้จักแบรนด์เพิ่มขึ้น 54% และได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 66% ต่อปี
- ให้วิดีโอทำงานแทนคุณ: วิดีโอ YouTube ดึงคนดูได้เรื่อยๆ เมื่อคุณอัปโหลดวิดีโอไปแล้ว วิดีโอนั้นก็มีโอกาสที่จะทำงานได้ดีเป็นเวลาหลายเดือนและหลายปีโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเลย
- สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น: ผู้บริโภคประมาณ 64% ต้องการเชื่อมต่อกับแบรนด์ที่พวกเขาซื้อ การมีตัวตนบน YouTube ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับว่าที่ลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
- สร้างความไว้วางใจและความภักดี: วิดีโอช่วยให้คุณแสดงให้ผู้ชมเห็นว่าแบรนด์ของคุณเป็นยังไง โดยไม่ใช่การบอกพวกเขาแค่ปากเปล่า การพิสูจน์เช่นนี้เองสามารถเพิ่มความไว้วางใจและความภักดีกับแบรนด์อย่างต่อเนื่องได้
วิธีสร้างช่อง YouTube ของคุณ
มาดูวิธีทำช่อง YouTube ให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของคุณ ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ ในการปั้นช่องของคุณให้ปัง
1. ตั้งชื่อช่อง YouTube ของคุณ
เริ่มต้นวิธีสร้างช่อง YouTube โดยการเข้าสู่ระบบบัญชี Google ที่คุณต้องการใช้จัดการช่องของแบรนด์ของคุณ จากนั้นไปที่ตัวสลับช่อง YouTube (ที่คุณสามารถดูบัญชีปัจจุบันทั้งหมดของคุณได้) และเลือกปุ่ม “สร้างช่อง” ในหน้าจอถัดไป เลือกชื่อสำหรับช่องของคุณ ที่บ่งบอกความเป็นแบรนด์และจุดประสงค์ของช่อง YouTube ของคุณได้ดีที่สุด
ถ้ายังไม่รู้จะตั้งชื่อช่อง YouTube ว่าอะไรดีล่ะก็ ส่วนใหญ่ก็ตั้งตามชื่อธุรกิจของคุณไปเลย หรือถ้าช่องคุณจะเน้นสอนในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ ก็ตั้งชื่อให้สื่อถึงเนื้อหาแบบนั้นไปเลย เช่น Shopify ทำช่อง YouTube ชื่อ Learn with Shopify ชื่อนี้ก็บอกความเป็นแบรนด์ ทั้งยังบอกจุดประสงค์ของช่องได้ด้วย
💡 เคล็ดลับ: ใช้บัญชี Google ของแบรนด์ (ที่เชื่อมกับธุรกิจ) แทนบัญชีส่วนตัวในการสร้างช่อง YouTube จะดีกว่า เพราะนอกจากช่วยสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์แล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย เช่น ให้ผู้จัดการช่องคนอื่นๆ สามารถตั้งรหัสผ่านสำหรับการลงชื่อเข้าใช้ของตัวเองได้

2. ปรับแต่งภาพลักษณ์ช่อง
การสร้างแบรนด์ให้กับช่อง YouTube ของธุรกิจ จะช่วยทำให้ช่องของคุณดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเชื่อถือคุณในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์บน Youtube นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณสามารถรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ในทุนที่ให้สอดคล้องกันหมด ซึ่งจะทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น และทำให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อถือแบรนด์คุณมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนต่อมาของวิธีสร้างช่อง YouTube ในโปรไฟล์ช่องใหม่ของคุณ จะมี 2 จุดที่คุณสามารถสร้างความประทับใจด้วยภาพได้ นั่นก็คือ รูปโปรไฟล์ของคุณ และภาพแบนเนอร์ คุณสามารถอัปโหลดทั้งสองภาพไปยังแท็บ “Branding” ของบัญชี YouTube ของคุณ ซึ่งอยู่ภายใต้ “Channel customization”
เลือกภาพโปรไฟล์ของคุณ
รูปโปรไฟล์ของคุณ (หรือไอคอนช่อง) จะเชื่อมโยงกับรูปโปรไฟล์บัญชีธุรกิจของคุณในตอนแรก แต่คุณสามารถเปลี่ยนภาพนั้นได้ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะใช้โลโก้แบรนด์ โลโก้แบรนด์ในเวอร์ชันต่างๆ หรือรูปอื่นๆ ที่สื่อถึงแบรนด์ของคุณ แต่จำไว้ว่า ยิ่งดูในมือถือ ไอคอนจะยิ่งเล็ก ดังนัน้ ให้คุณเลือกรูป (เช่น โลโก้) ที่ไม่รกตา ไม่ต้องมีตัวหนังสือเยอะ จะได้เห็นชัด จำง่าย แม้จะเล็กนิดเดียว
ตอนอัปโหลดรูป อย่าลืมเช็กว่านามสกุลของไฟล์คือ JPG, BMP, PNG หรือ GIF แบบไม่เคลื่อนไหว ขนาด 800 x 800 พิกเซล จากนั้นตรวจสอบคุณภาพดูว่าไอคอนของคุณชัดไหมและสวยไหมเมื่อโชว์อยู่ในไซส์เล็ก ทั้งแบบสี่เหลี่ยมและวงกลม ซึ่งถ้าไม่โอเค ก็ให้คุณตรวจสอบนามสกุลของไฟล์นั้นอีกครั้ง และ/หรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปอื่นไปเลย
ทำภาพแบนเนอร์
การเพิ่มภาพแบนเนอร์ (หรือที่เรียกว่าภาพอาร์ตช่อง YouTube) เป็นวิธีสร้างช่อง YouTubeที่ดีในการปั้นเอกลักษณ์และทำให้แบรนด์ของคุณดูน่าสนใจ ไม่ใช่มีแค่ไอคอนอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น บางแบรนด์ก็เปลี่ยนรูปแบนเนอร์เป็นระยะๆ ตามช่วงโปรโมชั่น เทศกาล หรืออีเวนต์ต่างๆ
แต่สิ่งที่คุณต้องห้ามลืมก็คือ ไฟล์ภาพแบนเนอร์ต้องมีขนาดเล็กกว่า 6 เมกะไบท์ และมีขนาดอย่างน้อย 2560x1440 พิกเซล เพื่อให้สามารถแสดงผลได้ดีที่สุดในหลากหลายขนาดตามไซส์ของอุปกรณ์ YouTube จะมีตัวอย่างให้ดูว่าภาพแบนเนอร์จะขึ้นยังไงในแต่ละอุปกรณ์ เพื่อให้คุณสามารถปรับได้ตามต้องการ

3. กรอกข้อมูลโปรไฟล์ของคุณ
สลับไปที่แท็บ "Basic info" ในส่วน "Channel customization" เพื่ออัปเดตโปรไฟล์ YouTube ของธุรกิจให้เสร็จสมบูรณ์
ในส่วนของ "คำอธิบาย" ให้แสดงถึงน้ำเสียงของแบรนด์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับร้านค้า ผลิตภัณฑ์ และพันธกิจ ใส่คำสำคัญเกี่ยวกับร้านของคุณ เพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายหาคุณเจอตอนเสิร์ช YouTube ซึ่งจะส่งผลให้อัลกอริทึมของ YouTube สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของช่อง และนำเสนอช่องให้กับผู้ที่เหมาะสมได้
ใต้คำอธิบายช่อง คุณยังสามารถเลือกที่จะเชื่อมโยงจากช่อง Youtube ของคุณไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ เช่น โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ร้าน หรือบล็อก ลิงก์เหล่านี้จะโชว์ในโปรไฟล์ YouTube ของร้านคุณ ลิงก์ในโปรไฟล์ส่วนใหญ่ จะขึ้นแค่ชื่อแพลตฟอร์มกับ Favicon (ไอคอนเล็กๆ หรือโลโก้แบรนด์จิ๋วที่คุ้นตากันดี ตรงหัวเบราว์เซอร์เวลาเข้าเว็บ) แต่ลิงก์แรกจะโชว์ชื่อลิงก์ด้วย ดังนั้นตรงนี้คือพื้นที่โฆษณาชั้นดี ที่จะใส่คำเชิญชวน (CTA) ให้คนคลิกไปยังร้านออนไลน์ของคุณ แต่อย่าลืมจำกัดความยาว CTA ไว้ที่ไม่เกิน 30 ตัวอักษรเพื่อความกระชับ

💡 เคล็ดลับ: วิธีสร้างช่อง YouTube ในตอนตั้งค่าโปรไฟล์ ควรยืนยันเบอร์โทรศัพท์ด้วย เพราะการยืนยันนี้จะปลดล็อกฟีเจอร์ให้คุณสามารถทำคลิปเกิน 15 นาทีได้ ไลฟ์สดได้ แล้วก็แต่งวิดีโอได้ตามใจชอบ เช่น เปลี่ยนรูปหน้าปกวิดีโอ วิธีการก็ง่ายๆ แค่ไปที่ "YouTube Studio" จากเมนูที่ขึ้นมาตอนกดรูปโปรไฟล์ เลือก "Settings" จากแถบด้านข้างของหน้า Studio แล้วไปที่แท็บ "Channel" จากนั้นเลือก "Feature Eligibility" แล้วทำตามขั้นตอนยืนยันเบอร์โทรศัพท์ได้เลย
วางแผนเนื้อหา YouTube
- หาความเฉพาะตัวของช่อง Youtube ของคุณให้เจอ
- ระบุผู้ชมที่เป็นเป้าหมาย
- สร้างจุดขายที่ไม่เหมือนใคร
- ค้นหาและวิเคราะห์คู่แข่ง
- ลิสต์ไอเดียทำวิดีโอ
- ค้นหาคำค้นยอดฮิต
พอตั้งช่องเสร็จ ก็ถึงเวลาวางแผนทำคอนเทนต์วิดีโอ ที่จะดึงดูดและเปลี่ยนผู้ชมให้กลายเป็นลูกค้าในอุดมคติของคุณ
1. หาความเฉพาะตัวของช่อง Youtube ของคุณให้เจอ
ความเฉพาะตัวสำหรับช่อง YouTube ของคุณ คือสิ่งที่จะทำให้เป็นที่รู้จักบน YouTube นั่นเอง ถ้าคุณทำแบรนด์เครื่องสำอาง ก็ลองทำวิดีโอเกี่ยวกับความเฉพาะตัวนั้นๆ อาจจะเป็นการสอนแต่งหน้า หรือตอบคำถามเกี่ยวกับความงามก็ได้
เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ควรเจาะลึก โดยตีวงความเฉพาะตัวนั้นให้แคบลงไปอีก เช่น แทนที่จะเป็นเพียง "ความงาม" ทั่วๆ ไป ก็ลองเจาะจงไปที่เครื่องสำอางรักษ์โลก หรือวิธีการดูแลผมหยักศกดูสิ ยิ่งเจาะจงได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเจาะคำค้นยาวๆ ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณเสิร์ชได้มากเท่านั้น
2. ระบุผู้ชมเป้าหมาย
คุณอยากให้ใครมาดูช่อง Youtube ของคุณ กลุ่มเป้าหมายก็คือคนที่น่าจะชอบคอนเทนต์และซื้อของของคุณนั่นเอง การคิดเนื้อหาจะง่ายขึ้นมากเมื่อคุณรู้ว่าคุณกำลังพูดถึงใคร ตอนที่ระบุว่าใครคือผู้ชมของคุณ ให้คุณพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้
- ข้อมูลประชากร เช่น อายุ ที่อยู่ เพศ รายได้ และระดับการศึกษา
- ข้อมูลเชิงจิตวิทยา เช่น ความสนใจ พฤติกรรม ปัญหา และความฝัน
3. สร้างจุดขายที่ไม่เหมือนใคร
วิธีสร้างช่อง YouTube คุณต้องสร้างจุดขายที่ไม่เหมือนใคร และควรเป็นการนำความเฉพาะตัวของแบรนด์มาบรรจบกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แบรนด์เป็นที่จดจำ กล่าวคือเป็นเหตุผลให้คนเลือกเข้ามาดูช่องของคุณ และสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากวิดีโอของคุณ
อย่างเช่น จุดขายของคุณอาจจะเป็นการสอนผู้หญิงผมหยักศกให้จัดแต่งทรงผมตัวเองได้ง่ายขึ้น ด้วยวิดีโอสอนทำผมง่ายๆ หรืออาจจะเป็นพาไปรู้จักกับช่างฝีมือที่อยู่เบื้องหลังสินค้าที่คุณทำ เพื่อให้คนรู้จักชุมชนเล็กๆ กับเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมมากขึ้น
4. ค้นหาและวิเคราะห์คู่แข่ง
ใครคือคู่แข่งของคุณ ลองศึกษาดูว่าในแวดวงเฉพาะทางของคุณ มีคอนเทนต์แบบไหนที่คนอื่นทำกันอยู่แล้วบ้าง เพื่อนำมาช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ของคุณ๕
ยิ่งไปกว่านั้น การรู้ว่าคู่แข่งทำวิดีโอแบบไหน จะช่วยให้คุณหาจุดยืนของคุณในตลาดเฉพาะทางนั้นเจอ
ลองค้นหาใน YouTube ง่ายๆ โดยใช้คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับวงการของคุณ เพื่อหาช่องที่
- มีกลุ่มคนดูแบบเดียวกับคุณ
- ทำคอนเทนต์คล้ายๆ ของคุณ
- มีจุดขายหรือมีความเฉพาะตัวคล้ายๆ กัน
5. ลิสต์ไอเดียทำวิดีโอ
ถึงเวลาเริ่มรวบรวมรายการไอเดียสำหรับวิดีโอแล้ว เริ่มต้นด้วยไอเดียใหญ่ๆ เข้าไว้ และค่อยมาตีกรอบให้แคบลงทีหลัง
ตัวอย่างกลยุทธ์เพื่อจุดประกายไอเดียสำหรับคอนเทนต์วิดีโอ
- เช็กคำถามที่ลูกค้าส่งเข้ามา เพื่อทำ FAQ
- หาแรงบันดาลใจจากช่องคู่แข่ง
- ตามติดข่าวสารในแวดวงเฉพาะตัวของคุณ
- สอบถามลูกค้าเดิมว่ามีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง
- ส่องหัวข้อที่กำลังเป็นกระแสในแวงวงเฉพาะตัวของคุณ
ลองคิดดูว่าจะทำวิดีโอแบบไหน จะทำวิดีโอให้ความรู้ สอนทำอะไรที่เกี่ยวกับสินค้าหรือวงการของคุณไหม หรือจะเล่าเรื่องแบรนด์ด้วยภาพสวยๆ กับฟุตเทจเบื้องหลัง หรือจะทำวิดีโอตลกๆ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมดีล่ะ
Vat19 คือร้านกิฟต์ช็อปออนไลน์ที่เชี่ยวชาญสินค้าแหวกแนว พวกเขาสร้างอาณาจักรออนไลน์ด้วยคอนเทนต์ที่โดนใจและเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ กลยุทธ์ YouTube ของแบรนด์นี้คือการเน้นทำคอนเทนต์ตลกๆ เกี่ยวกับของขวัญแปลกๆ เพื่อเปิดตัวสินค้าใหม่ให้ผู้ชม ขณะนี้ ช่องของแบรนด์มีผู้ติดตามทาง YouTube แล้วกว่า 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งแปลว่าวิธีที่พวกเขาใช้นั้นได้ผลดีทีเดียว

6. ค้นหาคำค้นยอดฮิต
จริงๆ แล้ว YouTube ก็คือเครื่องมือค้นหา ที่ใช้คำสำคัญในการตัดสินว่าวิดีโอไหนจะเป็นประโยชน์กับผู้ค้นหา ลองใช้เครื่องมือวิจัยคำสำคัญอย่าง Ahrefs, Semrush หรือ Moz เพื่อหาคำค้นยอดฮิตในวงการของคุณ
เมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายใช้คำค้นหาอะไรแล้ว คุณก็เอาคำเหล่านั้นมาใส่ในวิดีโอและกลยุทธ์ของคอนเทนต์ เพื่อให้มั่นใจว่าวิดีโอขึ้นจะโชว์ขึ้นมาเมื่อมีการค้นหาที่ตรงกับคำเหล่านั้น
การถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ YouTube
ข่าวดีก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นมือโปรด้านวิดีโอ ก็ทำวิดีโอ YouTube เจ๋งๆ ได้ จริงๆ แล้ว ใครๆ ก็ถ่ายฟุตเทจคุณภาพสูงด้วยสมาร์ทโฟนได้ทั้งนั้น เพียงแค่นำมาปรับแต่งเพิ่มอีกนิดหน่อยในแอปตัดต่อวิดีโอ ทีนี้ก็แทบไม่เห็นความแตกต่างระหว่างมือโปรและคุณแล้วล่ะ
เมื่อคุณพร้อมที่จะเริ่มสร้างวิดีโอสำหรับช่อง YouTube ใหม่ของคุณแล้ว มาดูสิ่งที่ต้องทำกันเลย
1. เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม
วิธีเริ่มสร้างช่อง YouTube นั้นใช้เงินไม่เยอะ แค่มีสมาร์ทโฟนกับเวลา คุณก็เริ่มสร้างสรรค์วิดีโอได้แล้ว แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณภาพมือถือมันจำกัดความสามารถของคุณ ก็ลองลงทุนกับอุปกรณ์ถ่ายวิดีโอดู
ลิสต์สิ่งของที่คุณอาจต้องใช้เพื่อเริ่มต้นถ่ายทำ
- กล้องวิดีโอ DSLR หรือสมาร์ทโฟน
- ไมโครโฟนภายนอก
- อุปกรณ์เกี่ยวกับไฟ
- แอปหรือซอฟต์แวร์ตัดต่อวิดีโอ
- ที่จัดเก็บไฟล์วิดีโอ
- ขาตั้งกล้องหรือที่วางโทรศัพท์พกพา
2. ถ่ายทำวิดีโอของคุณ
เมื่อเป็นเรื่องของการถ่ายทำ ให้คุณลองพิจารณาเรื่องการจัดเฟรมเนื้อหา บทพูด (ถ้ามี) และสถานที่ถ่ายทำ อย่างเช่น ถ้าถ่ายในบ้าน อาจจะต้องใส่ใจเรื่องแสงมากกว่าถ่ายกลางแจ้งที่มีแสงธรรมชาติ
วิธีสร้างช่อง YouTube อย่างมืออาชีพ ก่อนที่คุณจะตั้งกล้องถ่าย คุณต้องพิจารณาดังนี้
- จะพูดอะไรในวิดีโอ (ถ้ามี)
- โครงเรื่องของวิดีโอ (ทำสตอรี่บอร์ดช่วยได้เยอะ)
- ต้องมีคนอื่นมาเข้าฉากด้วยไหม
- ข้อความหลักที่ต้องการสื่อ
- จะถ่ายทำที่ไหน (ต้องเงียบสนิทไหม? สภาพอากาศจะมีผลกับแผนไหม?
- จะจัดการฟุตเทจที่ถ่ายมายังไง ให้พร้อมสำหรับการตัดต่อ
3. โพสต์วิดีโอแรกของคุณ
ต่อไปก็ถึงเวลาที่ทุกอย่างจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง วิดีโอของคุณตอนนี้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้แล้ว และคุณก็พร้อมให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ หรือคอนเทนต์สนุกๆ ของคุณแล้วล่ะ
วิธีการอัปโหลดวิดีโอลง YouTube
- คลิกไอคอนรูปกล้องข้างรูปโปรไฟล์บัญชี YouTube ของคุณ
- เลือก "อัปโหลดวิดีโอ"
- เลือกไฟล์ที่คุณต้องการอัปโหลด
- ตั้งชื่อวิดีโอ
- ใส่รูปภาพปก
- เขียนคำอธิบายวิดีโอ (ใส่คำสำคัญและ CTA ด้วย)
- เลือกหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอของคุณ
- เมื่อวิดีโอประมวลผลเสร็จแล้ว คลิก "เสร็จสิ้น"
เอาล่ะ! วิดีโอของคุณอัปโหลดสำเร็จ และพร้อมให้รับชมแล้ว
วิธีทำช่อง YouTube ให้เติบโต
- สร้างผู้ติดตาม 1,000 คนแรก
- สร้างคอมมูนิตี้
- ความสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญ
- โปรโมทช่องบนแพลตฟอร์มอื่น
- ร่วมมือกับครีเอเตอร์คนอื่น
- ใช้เครื่องมือที่มีประโยชน์
- เรียนรู้ SEO สำหรับ YouTube
1. สร้างผู้ติดตาม 1,000 คนแรก
การพิชิตผู้ติดตาม 1,000 คนแรก ถือเป็นด่านหินที่สุด คุณต้องแสดงให้เห็นว่าช่องของคุณมีสาระน่าติดตาม และมีคอนเทนต์ที่ตรงใจพวกเขา
นี่คือเคล็ดลับวิธีสร้างช่อง YouTube ให้มีผู้ติดตาม 1,000 คนแรกบน Youtube
- ซอยเป้าหมายให้เล็กลง เช่น ตั้งเป้าหมายรับผู้ติดตามใหม่ 100 คนต่อเดือน
- อำนวยความสะดวกให้ผู้ชมกดติดตาม โดยใส่ปุ่ม “ติดตาม” ของ Youtube ลงในวิดีโอของคุณ
- แปะลิงก์ “ติดตาม” ของYouTube ในคำบรรยายวิดีโอของคุณ
- ชวนผู้ที่ติดตามจดหมายข่าวและผู้ติดตามโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของคุณ มาติดตามช่อง YouTube ของคุณ
- วิเคราะห์วิดีโอที่มียอดวิวสูงที่สุด และผลิตคอนเทนต์ที่ต่อยอดจากหัวข้อหรือสไตล์วิดีโอเหล่านั้น
2. สร้างคอมมูนิตี้
ชุมชนเป็นเครื่องมือทรงพลังบน YouTube ยิ่งมีผู้สนับสนุนคุณและช่องของคุณมากเท่าใด การเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากขึ้นก็จะยิ่งง่ายขึ้น
เริ่มต้นด้วยการปรับวิดีโอของคุณให้เหมาะสมสำหรับการมองเห็น โดยใช้คำสำคัญที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมกับช่องอื่นๆ ที่คล้ายกับของคุณ นอกจากนี้ คุณยังสามารถสำรวจความคิดเห็นของผู้ชม ว่าอยากชมคอนเทนต์แบบไหน จัดการแข่งขันและแจกรางวัลเพื่อเรียกกระแส และถ่ายทำซีรีส์ที่ดึงดูดให้ผู้ชมกลับมาชมก็ได้เช่นกัน
3. ความสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญ
จริงๆ แล้ววิธีสร้างช่อง YouTube คุณไม่จำเป็นต้องอัปโหลดวิดีโอใหม่ทุกวัน เพราะอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เมื่อมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำ ดังนั้น คุณจึงสร้างตารางเวลาที่เหมาะสมและสะดวกสบาย เช่น อัปโหลดวิดีโอ 2 ชิ้นต่อเดือน อย่างวิดีโอสอนทำนู่นนี่ 1 ชิ้น และวิดีโอที่พาไปชมเบื้องหลัง 1 ชิ้น
เมื่อสร้างตารางเวลาแล้ว ให้ทำตามอย่างสม่ำเสมอ ผู้ชมจะคาดหวังการอัปโหลดครั้งต่อไป ซึ่งสร้างความสนใจให้กับช่องของคุณ การรักษาความสม่ำเสมอเรื่องตารางเวลาที่จะลงคลิป YouTube ยังทำให้คุณวางแผนได้ง่ายขึ้นว่าจะเผยแพร่วิดีโอ YouTube ของคุณผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ เมื่อไหร่และที่ไหนบ้าง
4. โปรโมทช่องของคุณในแพลตฟอร์มอื่น
ถ้าคุณมีฐานผู้ติดตามที่แข็งแกร่งบนแพลตฟอร์มอื่นๆ อาทิ TikTok, X, Facebook, Instagram หรือจดหมายข่าวของคุณ ให้คุณโปรโมทช่อง YouTube ของคุณบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น
คุณสามารถชวนผู้ติดตามของคุณบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกช่อง YouTube ของคุณได้ แชร์ลิงก์ไว้ในไบโอของโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของคุณ และใส่ CTA ไว้ที่ส่วนท้ายของจดหมายข่าวทุกฉบับ และอย่าลือว่า ทุกครั้งที่โปรโมทโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย ให้คุณใส่ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของคุณด้วย
5. ร่วมมือกับครีเอเตอร์คนอื่น
ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินฟลูเอ็นเซอร์และครีเอเตอร์บน YouTube หาช่องที่มีฐานผู้ชมใกล้เคียงกับของคุณ และติดต่อเพื่อคอลแล็บกัน
คุณสามารถคอลแล็บกับครีเอเตอร์คนอื่นๆ บน Youtube ได้หลายวิธี เช่น
- ทำวิดีโอร่วมกันโดยใช้คลิปจากครีเอเตอร์ทั้งคู่
- เทคโอเวอร์บัญชีบนช่องของครีเอเตอร์คนอื่นชั่วคราว เพื่อแนะนำแบรนด์ของคุณแก่ผู้ชมของพวกเขา
- ส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ครีเอเตอร์ที่คุณเลือก เพื่อให้พวกเขาทำคลิปแกะกล่องหรือรีวิว
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ความงาม Cosmetips ได้คอลแล็บกับอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านความงามอย่าง Molly Mae เพื่อสร้างคลิปวิดีโอแกะกล่อง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้แชร์กล่องเครื่องสำอางที่คัดสรรมาแล้ว ให้ผู้ชมของเธอได้ดูในแบบที่เป็นธรรมชาติ
6. ใช้เครื่องมือที่มีประโยชน์
เครื่องมือ YouTube ช่วยเสริมประสิทธิภาพวิดีโอของคุณ ช่วยให้คุณผลิตคอนเทนต์ที่เหนือกว่าได้ฉับไวยิ่งขึ้น และนำวิดีโอของคุณไปสู่สายตาผู้ที่ใช่
เครื่องมือ YouTube ที่แนะนำให้ใช้ในการสร้างช่องยูทูป
- โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ: ใช้โปรแกรมตัดต่ อเพื่อประกอบคลิปเข้าด้วยกัน และยกระดับคุณภาพฟุตเทจของคุณ iMovie และ Windows Video Editor เปิดให้ใช้งานฟรี
- เครื่องมือวิเคราะห์คำค้นหา: ค้นหาคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างวิดีโอเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ เช่น Google Keyword Planner (ฟรี), Semrush และ Ahrefs
- เครื่องมือวัดผล: ติดตามผลลัพธ์ของช่อง YouTube ของคุณ และทดลองชื่อและคำบรรยายที่แตกต่างกันด้วย TubeBuddy หรือ Social Blade
- YouTube Studio: ควบคุมช่องของคุณได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย YouTube Studio ซึ่งช่วยให้คุณติดตามผลลัพธ์และจัดหมวดหมู่วิดีโอจากมือถือของคุณ
7. เรียนรู้ SEO สำหรับ YouTube
โดยพื้นฐานแล้ว YouTube คือเครื่องมือค้นหา ซึ่งจะใช้อัลกอริทึมที่ซับซ้อนมาเชื่อมโยงผู้ใช้กับประเภทคอนเทนต์ที่พวกเขาน่าจะชอบมากที่สุด
แม้ว่าวิธีการทำงานที่แน่นอนของอัลกอริทึมจะถูกเก็บเป็นความลับ แต่เราทราบว่า ปัจจัยต่อไปนี้มีผลต่อเงื่อนไขที่แสดงผลวิดีโอของคุณ รวมถึงตำแหน่งบนหน้าผลลัพธ์ที่วิดีโอของคุณน่าจะปรากฏ
- การวิจัยคำหลักสำหรับ YouTube: ช่วยให้ YouTube เข้าใจว่าผู้คนจะใช้คำว่าอะไรในการค้นหาวิดีโอของคุณ ซึ่งทำได้ด้วยการวิจัยคำหลัก (คีย์เวิร์ด)
- การปรับชื่อและคำอธิบายวิดีโอให้เหมาะสม: เมื่อคุณพบคำหลักเหล่านี้แล้ว ให้ใส่ไว้ในชื่อและคำอธิบายวิดีโอของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ชื่อวิดีโอน่าสนใจพอที่จะให้ผู้คนคลิกและรับชม อัตราการคลิกผ่าน (CTR) เป็นปัจจัยการจัดอันดับที่ทราบกันดีในอัลกอริทึมของ YouTube
- การใช้แท็กและหมวดหมู่ให้มีประสิทธิภาพ: เลือกหมวดหมู่หนึ่งที่เหมาะสมที่สุดกับวิดีโอ YouTube ของคุณ เช่น หากเป็นวิดีโอสอนเล่นเกม ก็จะเป็นคำว่า "เกม" คุณสามารถเพิ่มแท็กได้มากเท่าที่คุณต้องการ (โดยที่อยู่ในขีดจำกัด 400 ตัวอักษร) เพื่อให้อัลกอริทึมของ YouTube มีบริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิดีโอของคุณ
วิเคราะห์ประสิทธิภาพของช่อง YouTube ของคุณ
คุณได้ทุ่มเทสร้างคอนเทนต์ YouTube และปั้นให้ช่องเติบโตแล้ว นี่คือวิธีดูว่ากลยุทธ์วิธีสร้างช่อง YouTube ของคุณได้ผลหรือไม่
เข้าใจข้อมูลวิเคราะห์ของ YouTube
YouTube Analytics นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องการ เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ของช่องตนเอง ในการเข้าถึงข้อมูลของคุณ ให้ไปที่ YouTube Studio และเลือก “Analytics” ในแถบเมนูซ้ายมือ
คุณจะพบข้อมูลมากมายในแดชบอร์ดนี้ เช่น ยอดวิว การแสดงผล และผู้ติดตาม คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเหล่านี้ตามช่วงเวลาต่างๆ โดยเปรียบเทียบข้อมูลปัจจุบันกับข้อมูลเก่า ซึ่งจะทำให้คุณเห็นภาพรวมว่ากลยุทธ์ YouTube ของคุณได้ผลหรือไม่

ตีความข้อมูลผู้ชม
ในช่วงแรกๆ ที่คุณเริ่มทำช่อง YouTube การคอยสังเกตตัวเลขเป็นเรื่องที่ควรทำมากๆ เพราะมันบอกอะไรได้เยอะเกี่ยวกับช่องของคุณ ใครมาติดตามคุณบ้าง แล้วอะไรที่กำลังไปได้สวย
ลองดูข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ในการวิเคราะห์ช่อง YouTube
- แหล่งที่มาของคนดู: คนดูของคุณมาจากไหนกันบ้าง มาจากการค้นหาใน YouTube, วิดีโอแนะนำ, เพลย์ลิสต์ที่จัดไว้ หรือมาจากฟีด YouTube Shorts จากนั้นให้คุณลองเน้นไปที่แหล่งที่คนดูเข้ามาเยอะๆ
- ข้อมูลประชากรของคนดู: กลุ่มเป้าหมายของคุณมีอะไรที่เหมือนๆ กันบ้าง เมื่อรู้ว่าพวกเขาอายุเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน สนใจอะไร คุณก็สามารถนำมาคิดหาหัวข้อที่พวกเขาชอบได้
- ช่องที่เขาดู: ช่องเหล่านี้เป็นช่องที่กลุ่มเป้าหมายของคุณก็ดูเช่นกัน ให้เอาข้อมูลนี้ไปใช้ในการวิจัยตลาด เพื่อให้รู้ว่าคุณกำลังแข่งกับใคร และต้องทำอย่างไรจึงจะดึงดูดความสนใจของคนดูได้
ประเมินประสิทธิภาพวิดีโอ
ข้อมูลวิเคราะห์ของ YouTube อาจจะบอกว่าช่องของคุณกำลังเติบโต แต่ถ้าอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้วิดีโอของคุณดัง แล้วนำสิ่งนั้นมาต่อยอด คุณต้องดูก่อนว่าอะไรคือวิดีโอ "ดีๆ" แล้ววิดีโอที่ดังๆ เหล่านั้นมีอะไรเหมือนๆ กันบ้าง
ตัวอย่างตัวชี้วัดที่คุณนำมาใช้ได้
- อันดับสูงสุด: นี่คือวิดีโอที่ดังที่สุดของคุณ ไม่ว่าจะเป็น YouTube Shorts หรือวิดีโอแบบยาวๆ ปกติ
- ระยะเวลาการรับชมเฉลี่ย: คนดูเฉลี่ยใช้เวลาดูวิดีโอของคุณนานเท่าไหร่ ถ้าดูแป๊บเดียว แปลว่าคุณไม่สามารถตรึงความสนใจเขาได้ แต่ถ้านาน ก็แปลว่าคุณทำให้เขาติดใจได้
- อัตราการดูต่อเนื่อง: เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังรับชมวิดีโอของคุณอยู่ ณ จุดเวลาต่างๆ ในวิดีโอ ลองสังเกตว่าคนดูหายไปช่วงไหน แล้ววิเคราะห์ว่าเพราะอะไร คุณน่าจะค้นพบ (และปรับปรุง) บางจุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในวิดีโอต่อๆ ไป
เคล็ดลับระดับเซียน วิธีสร้างช่อง YouTube ของคุณโดดเด่น
- ทำเงินจากช่อง Youtube ของคุณด้วยโฆษณา
- ตั้งค่า Shopping บน YouTube เพื่อโปรโมทสินค้าของคุณ
- ใส่ลายน้ำในวิดีโอ เพื่อเพิ่มการจดจำแบรนด์
- เปิดใช้งานป๊อปอัปเชิญชวนให้กดติดตามในวิดีโอ
- ใส่ Info Card เชื่อมไปยังเนื้อหาที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของคุณ
- ใส่ End Screen ที่เกี่ยวข้องในวิดีโอ เพื่อเพิ่มอัตราการดูต่อเนื่อง
- สร้างรูปภาพปกวิดีโอที่สะท้อนเอกลักษณ์แบรนด์ของคุณ
- ใช้ช่องทางสร้างรายได้อื่นๆ เช่น ขายสินค้าที่ระลึก สินค้าดิจิทัล หรือบริการต่างๆ
เริ่มสร้างช่อง Youtube ของคุณให้ปัง
การเปิดช่อง YouTube สามารถสร้างความแตกต่างให้คุณเหนือคู่แข่ง และสร้างความเชื่อมั่นและการจดจำแบรนด์ได้ วางแผนให้ดีว่าคุณต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายไหน และอะไรคือจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของคุณ จากนั้น ระดมไอเดียทำวิดีโอที่เข้าถึงใจคนเหล่านั้น
เมื่อช่องของคุณเริ่มเดินเครื่องแล้ว คุณสามารถโฟกัสไปที่การเพิ่มยอดวิวและผู้ติดตาม ผ่านช่องทางต่างๆ ในการสร้างรายได้ การร่วมมือกับครีเอเตอร์ และการโปรโมทช่องของคุณในแพลตฟอร์มอื่นๆ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีสร้างช่อง YouTube
วิธีสร้างช่อง YouTube สำหรับมือใหม่ ต้องทำยังไงบ้าง
- หาความเฉพาะตัวของช่อง Youtube ของคุณให้เจอ
- ระบุผู้ชมเป้าหมาย
- สร้างจุดขายที่ไม่เหมือนใคร
- ค้นหาและวิเคราะห์คู่แข่ง
- ลิสต์ไอเดียทำวิดีโอ
- ค้นหาคำค้นยอดฮิต
- สร้างวิดีโอชิ้นแรก
- ปรับวิดีโอของคุณตอนอัปโหลด
- แชร์ช่องของคุณ
คุ้มไหม ถ้าจะสร้างช่อง Youtube
การเปิดช่อง YouTube อาจเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ แต่จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความคาดหวังของคุณเป็นหลัก
ตัวอย่างปัจจัยที่ควรพิจารณา
- ใจรัก: ถ้าคุณมีใจรักในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ การเปิดช่อง YouTube ก็เป็นช่องทางที่ยอดเยี่ยมในการแบ่งปันความรู้ และสร้างสัมพันธ์กับคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน
- เวลา: การสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพสำหรับช่อง YouTube ต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามอย่างมาก ถ้าคุณไม่สามารถหรือไม่พร้อมที่จะทุ่มเทเวลา คุณอาจจะพบอุปสรรคในการสร้างฐานผู้ติดตามและขยายช่อง
- การแข่งขัน: YouTube เป็นสนามประลองที่มีผู้เล่นมากมาย มีครีเอเตอร์นับล้านที่ช่วงชิงความสนใจกัน แม้ว่าจะดูน่ากลัวไปนิด แต่นี่ก็หมายความว่าน่าจะมีกลุ่มผู้ชมสำหรับทุกหัวข้อที่คุณสนใจยังไงล่ะ
- รายได้: แม้ว่าคุณจะทำเงินจากโฆษณาและการสนับสนุนบน YouTube ได้ แต่นั่นก็คงไม่ใช่แหล่งรายได้หลัก เว้นแต่คุณจะมีฐานผู้ติดตามขนาดใหญ่และมีส่วนร่วมกับช่องของคุณอย่างเหนียวแน่น
วิธีสร้างช่อง YouTube ทำยังไงให้ได้เงิน
- สร้างช่องและตั้งค่าโปรไฟล์ของคุณ
- หาความเฉพาะตัวของช่อง YouTube ของคุณ
- ระบุกลุ่มเป้าหมายของคุณ
- หาและวิเคราะห์คู่แข่งของคุณ
- เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม
- สร้างผู้ติดตาม 1,000 คนแรกของคุณ
- ทำเงินผ่านโฆษณา YouTube
- เพิ่มฟีเจอร์ Shopping บน YouTube ในช่องของคุณ
สร้างช่อง Youtube ต้องใช้งบเท่าไหร่
การเปิดช่อง YouTube ไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าเลย แค่มีบัญชี Google พร้อมมือถือคู่ใจ และโปรแกรมตัดต่อฟรีก็ลุยได้แล้ว พอช่องของคุณเริ่มโต คุณอาจจะอยากลงทุนอัปเกรดอุปกรณ์ตัดต่อให้เทพขึ้น รวมถึงเครื่องมือวิเคราะห์คำค้นหาและเครื่องมือวิเคราะห์สถิติด้วย