ทุกวันนี้ ผู้คนใช้อุปกรณ์มือถือในการท่องอินเทอร์เน็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ด้วยขนาดหน้าจอที่หลากหลาย คุณจึงต้องเลือกขนาดรูปเว็บไซต์ ให้เหมาะสมตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้เข้าชมทุกคนได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดี ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์แบบใดก็ตาม
หากคุณไม่ปรับรูปภาพให้เหมาะสม ผู้เข้าชมอาจเห็นภาพที่เล็กและเบลอ หรือใหญ่เกินไป ซึ่งส่งผลให้เว็บไซต์โหลดช้า ต้องเลื่อนหน้าจอหรือซูมเข้าออกโดยไม่จำเป็น
ข่าวดีคือ การทำให้รูปภาพของคุณแสดงผลได้ดีในทุกอุปกรณ์นั้นไม่ยากเลย แค่เลือกขนาดรูปภาพที่เหมาะสม ลดขนาดไฟล์ให้เล็กที่สุด และใช้ดีไซน์เว็บไซต์แบบ Responsive ก็ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ยอดเยี่ยมได้แล้ว
ลองปรับแต่งรูปภาพตามไกด์ด้านล่างนี้ เราแนะนำวิธีการทำภาพให้เหมาะกับการแสดงผลทั้งบนมือถือและเดสก์ท็อป
ขนาดรูปเว็บไซต์ที่ดีที่สุด
-
ความกว้าง (พิกเซล): ความกว้าง 2500 พิกเซลถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับการแสดงผลแบบเต็มหน้าจอบนเบราว์เซอร์ในกรณีส่วนใหญ่ หากภาพมีขนาดเล็กกว่านี้ อาจถูกครอบตัดหรือดูเบลอเมื่อจำเป็นต้องขยายให้เต็มความกว้างของหน้าจอ
-
ขนาดของรูปภาพ: ขนาด (พิกเซล) ที่เหมาะสมที่สุดของรูปภาพขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น ภาพพื้นหลังควรมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่ใช้ในบล็อกโพสต์
-
ขนาดไฟล์: ไฟล์รูปภาพที่มีขนาดเกิน 20 เมกะไบต์สามารถส่งผลให้เว็บไซต์โหลดช้าลงอย่างมาก โดยทั่วไปควรใช้ภาพที่มีขนาดไม่เกิน 2 เมกะไบต์ และขนาดประมาณ 500 กิโลไบต์จะเหมาะสมที่สุดในหลายกรณี
- แอตทริบิวต์ของรูปภาพ (Image Attribute): แอตทริบิวต์รูปภาพ (เช่น alt text หรือ alt tag) เป็นข้อความที่ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยตรง แต่มีความสำคัญต่อการเข้าถึงเว็บไซต์ โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ที่ใช้ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอ ควรเขียนให้กระชับ และไม่เกิน 100 ตัวอักษร ตามหลักปฏิบัติที่ดี
ขนาดรูปเว็บไซต์ที่เหมาะสำหรับเดสก์ท็อปและมือถือ
ตารางด้านล่างนี้แสดงขนาดรูปภาพที่แนะนำสำหรับการใช้งานบนเว็บไซต์ทั้งเวอร์ชันเดสก์ท็อปและมือถือ
ประเภทรูป |
ขนาดรูป (เดสก์ท็อป) |
ขนาดรูป (มือถือ) |
อัตราส่วนภาพ |
รูปภาพพื้นหลัง |
2560 x 1400 px |
360 x 640 px |
16:9 |
รูป Hero (ภาพเปิดหน้า) |
1280 x 720 px |
360 x 200 px |
16:9 |
แบนเนอร์ |
1200 x 400 px |
360 x 120 px |
3:1 |
ภาพบล็อก |
1200 x 800 px |
360 x 240 px |
3:2 |
โลโก้ (แนวนอน) |
400 x 100 px |
160 x 40 px |
4:1 |
โลโก้ (จัตุรัส) |
100 x 100 px |
60 x 60 px |
1:1 |
Favicon (ไอคอนเว็บไซต์) |
16 x 16 px |
16 x 16 px |
1:1 |
ไอคอนโซเชียลมีเดีย |
32 x 32 px |
48 x 48 px |
1:1 |
รูปแบบ Lightbox (เต็มจอ) |
1920 x 1080 px |
360 x 640 px |
16:9 |
รูปตัวอย่าง (Thumbnail) |
300 x 300 px |
90 x 90 px |
1:1 |
ขนาดเหล่านี้เป็นเพียงขนาดที่แนะนำ ซึ่งอาจต้องปรับให้เหมาะสมตามดีไซน์เว็บไซต์ของคุณ โดยเฉพาะหากคุณใช้ดีไซน์แบบ Responsive โดยทั่วไป แนะนำให้ขนาดการแสดงผลของรูปภาพ (render size) เล็กกว่าขนาดที่อัปโหลด เพื่อให้โหลดได้เร็วและแสดงผลได้ชัดเจนบนทุกอุปกรณ์
ทำไมขนาดรูปถึงสำคัญกับเว็บไซต์?
สำหรับเว็บไซต์ ขนาดรูปภาพมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อดังนี้
- ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
- ช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์
- ส่งผลดีต่อการจัดอันดับของเว็บไซต์บนเครื่องมือค้นหา
ขนาดรูปเว็บไซต์สร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น
การใช้รูปภาพที่มีขนาดเหมาะสมกับแต่ละตำแหน่งบนเว็บไซต์จะช่วยให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น พวกเขาจะมองเห็นรายละเอียดได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องเลื่อนหน้าจอเพื่อดูภาพทั้งหมด
หากรูปภาพมีคุณภาพต่ำ แตกเป็นพิกเซล หรือเล็กเกินไป อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเนื้อหาขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าและแบรนด์
ในทางตรงกันข้าม รูปภาพที่มีคุณภาพสูงและมีขนาดที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของสินค้า และให้ข้อมูลเชิงภาพที่ชัดเจนแก่ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ดูจากภาพด้านล่างของแบรนด์รองเท้าเพื่อความยั่งยืน Allbirds ที่แสดงฟีเจอร์ต่างๆ ของสินค้าได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์
เมื่อคุณอัปโหลดขนาดรูปเว็บไซต์ที่ใหญ่ เซิร์ฟเวอร์จะใช้เวลานานขึ้นในการโหลดหน้าเพจ ในทางกลับกัน รูปภาพที่มีขนาดเล็กกว่า (ทั้งในแง่ของขนาดภาพและขนาดไฟล์) จะโหลดได้เร็วกว่าในทุกอุปกรณ์
คุณสามารถตรวจสอบค่า Contentful Paint และข้อมูลด้านความเร็วอื่นๆ ได้จากเครื่องมือ Google PageSpeed Insights

ลูกค้ากว่าครึ่งระบุว่าจะละทิ้งตะกร้าสินค้าทันที หากหน้าเว็บไซต์ของร้านใช้เวลาโหลดเกิน 3 วินาที ข้อมูลเชิงลึกแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า การปรับความเร็วในการโหลดหน้าเว็บให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัตราการออกจากหน้าเว็บไซต์ (bounce rate) ที่สูงเกินไป
ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับดีขึ้น
การจัดอันดับเว็บไซต์ หมายถึง ตำแหน่งของเว็บไซต์คุณในหน้าผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิน (SERPs) เว็บไซต์ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับการค้นหามีแนวโน้มที่จะอยู่ในอันดับต้นๆ ของผลลัพธ์เมื่อมีการค้นหาด้วยคำค้น (keywords) ที่เกี่ยวข้อง
Google ใช้ปัจจัยหลากหลายในการตัดสินว่าเพจใดควรอยู่ในอันดับบนสุดของผลการค้นหา ซึ่งคุณภาพของรูปภาพ (หรือประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นจากรูปภาพเหล่านั้น) ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่อาจส่งผลต่ออัลกอริธึมของ Google ได้เช่นกัน
แนวทางขนาดรูปเว็บไซต์
บนเว็บไซต์ทั่วไปจะมีรูปภาพหลักอยู่ 5 ประเภท ได้แก่
แต่ละประเภทมีข้อกำหนดด้านขนาดที่แตกต่างกัน มาดูกันว่าขนาดรูปแบบไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละประเภทของรูปภาพในเว็บไซต์
ขนาดภาพพื้นหลัง

รูปภาพพื้นหลังมักเป็นรูปภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเว็บไซต์ โดยทำหน้าที่เป็นภาพฉากหลังของโฮมเพจหรือแลนดิ้งเพจอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น แบรนด์จักรยาน Cowboy ใช้ภาพสินค้าของตนเป็นฉากหลังบนหน้าแรก ทำให้สินค้ากลายเป็นจุดเด่นของหน้าเว็บไซต์ และภาพยังสามารถปรับให้เต็มหน้าจอได้ไม่ว่าจะดูบนอุปกรณ์ใด
ความกว้างที่แนะนำ: 2560 พิกเซล
ความสูงที่แนะนำ: 1400 พิกเซล
อัตราส่วนภาพ: 16:9
ขนาดไฟล์ที่แนะนำ: ไม่เกิน 20 MB
ขนาดภาพฮีโร่

รูปภาพ Hero มีลักษณะคล้ายกับภาพพื้นหลัง แต่จะมีความสูงน้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการแสดงข้อความหรือคอนเทนต์เพิ่มเติมในส่วนบนของหน้า โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้งานเลื่อนหน้าจอเพื่อเห็นเนื้อหาทั้งหมด
จากตัวอย่างด้านบน แบรนด์ BLK & Bold ใช้ภาพ Hero ที่มีอัตราส่วนภาพแบบแคบเพื่อให้ภาพเต็มหน้าจอ แต่ยังคงมีพื้นที่ด้านล่างสำหรับใส่เนื้อหาเพิ่มเติมได้อย่างพอดี
ความกว้างที่แนะนำ: ระหว่าง 1280 พิกเซล ถึง 2500 พิกเซล
ความสูงที่แนะนำ: ระหว่าง 720 พิกเซล ถึง 900 พิกเซล
อัตราส่วนภาพ: 16:9
ขนาดไฟล์ที่แนะนำ: ไม่เกิน 10 MB
ขนาดแบนเนอร์
ขนาดรูปเว็บไซต์แบนเนอร์สามารถมีสัดส่วนที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่นำไปใช้บนเว็บไซต์ และเนื้อหาที่คุณต้องการนำเสนอให้กับผู้เข้าชม โดยรูปแบบแบนเนอร์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ แบนเนอร์โฆษณา (Banner Ad)
หนึ่งในบริการยอดนิยมสำหรับการแสดงผลแบนเนอร์โฆษณาคือ Google Ads ซึ่งรองรับรูปแบบและขนาดแบนเนอร์ที่หลากหลายตามมาตรฐานสากล


หากคุณกำลังวางแผนใช้รูปภาพแบนเนอร์ที่ไม่ใช่สำหรับโฆษณา ตัวเลือกที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น 300 x 200 พิกเซล หรือ 970 x 90 พิกเซล มักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในการแสดงผล
ความกว้างที่แนะนำ: ตรวจสอบกับแพลตฟอร์มโฆษณา
ความสูงที่แนะนำ: ตรวจสอบกับแพลตฟอร์มโฆษณา
อัตราส่วนภาพ: หลากหลาย ขึ้นอยู่กับรูปแบบ
ขนาดไฟล์ที่แนะนำ: 150 KB (แนะนำให้ตรวจสอบกับแพลตฟอร์มโฆษณาอีกครั้ง)
ขนาดภาพบล็อก

รูปภาพที่ใช้ในบล็อกมีหลากหลายรูปแบบและขนาด เช่นในตัวอย่างจากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ Kulala ซึ่งรูปภาพหลักของบทความถูกอัปโหลดในขนาด 1200 x 620 พิกเซล แต่ขนาดการแสดงผลจริง (rendered size) อยู่ที่ 894 x 462 พิกเซล
การกำหนดขนาดการแสดงผลของรูปภาพล่วงหน้าจะช่วยให้ดีไซน์เว็บไซต์ดูเป็นระเบียบ และลดขนาดไฟล์เพื่อให้โหลดได้รวดเร็ว (เช่น ภาพในโพสต์ของ Kulala มีขนาดไฟล์เพียง 95.1 KB)
สำหรับภาพหัวเรื่องหลักของบทความ (Header Image) ที่อยู่ด้านบนสุดของหน้า ควรตั้งขนาดให้สม่ำเสมอทุกโพสต์เพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพ
- ความกว้างที่แนะนำ: 1200 พิกเซล
- ความสูงที่แนะนำ: 800 พิกเซล
- อัตราส่วนภาพ: 3:2
- ขนาดไฟล์ที่แนะนำ: ไม่เกิน 3 MB
ขนาดโลโก้
โลโก้มักจะเป็นหนึ่งในรูปภาพที่มีขนาดเล็กที่สุดบนเว็บไซต์ (หากไม่นับ Favicon ที่อยู่บนแถบแท็บของเบราว์เซอร์) โดยขึ้นอยู่กับดีไซน์ของโลโก้ คุณสามารถเลือกใช้อัตราส่วนที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า
โลโก้ส่วนใหญ่จะเหมาะกับอัตราส่วนแบบ 1:1 ซึ่งสามารถเห็นได้ในมุมล่างซ้ายของตัวอย่างจาก Kulala ด้านบน
ขณะที่โลโก้ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามักใช้ได้ดีกับชื่อแบรนด์ที่ยาว หรือโลโก้ที่เน้นข้อความมากกว่าภาพ เช่น โลโก้ของ Shopify เองที่ใช้อัตราส่วนยาวแบบ 4:1
- ความกว้างที่แนะนำ: 100 พิกเซล
- ความสูงที่แนะนำ: 100 พิกเซล
- อัตราส่วนภาพที่แนะนำ: 1:1, 2:3, 4:1
- ขนาดไฟล์ที่แนะนำ: ไม่เกิน 1 MB
คำแนะนำขนาดรูปเว็บไซต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
เลือกขนาดรูปเว็บไซต์ที่เหมาะสม
บนหน้าจอมือถือที่มีขนาดเล็ก ผู้ใช้หลายคนชอบที่จะซูมดูภาพได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรเลือกขนาดภาพที่สมดุลระหว่างความคมชัดกับขนาดไฟล์
ภาพความละเอียดสูงช่วยให้เว็บไซต์ของคุณดูเป็นมืออาชีพและใช้งานได้ดีเมื่อซูม ควรรักษาสัดส่วนภาพให้เหมือนกันในแต่ละหมวดหมู่ เพื่อให้ดีไซน์โดยรวมดูสม่ำเสมอ
ตัวอย่างเช่น หากคุณมีร้านค้าออนไลน์ อาจตั้งให้ภาพสินค้าทั้งหมดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะภาพทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสจัดวางง่ายบนหน้าจอเล็ก และยังแสดงผลได้ดีบนมือถือ โดยผู้เข้าชมสามารถดูภาพได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเลื่อนหน้าจอบ่อยๆ
💡 บน Shopify คุณสามารถอัปโหลดภาพได้สูงสุดถึงขนาด 5000 x 5000 พิกเซล และขนาดไฟล์ไม่เกิน 20 MB
สำหรับภาพสินค้าที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แนะนำให้ใช้ขนาด 2048 x 2048 พิกเซล
อย่าลืมว่า หากต้องการให้ฟีเจอร์ซูมใช้งานได้ ภาพของคุณต้องมีขนาดมากกว่า 800 x 800 พิกเซล
ใส่ใจกับขนาดไฟล์ภาพ
ภาพที่มีขนาดไฟล์ใหญ่เกินไปอาจทำให้เว็บไซต์โหลดช้าลง โดยเฉพาะเมื่อผู้เข้าชมใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน อีกทั้งแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์หลายแห่งก็กำหนดขนาดไฟล์สูงสุดที่อัปโหลดได้ เช่น Shopify ที่รองรับไฟล์ไม่เกิน 20 MB
หากคุณต้องการลดขนาดไฟล์ภาพ สามารถใช้เครื่องมือย่อหรือปรับขนาดภาพออนไลน์ได้ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้คุณเปลี่ยนขนาดหรือรูปแบบไฟล์ภาพให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
โดยทั่วไป ภาพพื้นหลังบริเวณส่วนหัวของเว็บไซต์ควรมีขนาดไม่เกิน 10 MB ส่วนภาพสินค้าควรมีขนาดเล็กกว่านั้นมาก ประมาณ 300 KB ก็เพียงพอแล้ว
ปรับขนาดภาพให้เหมาะกับหน้าจอมือถือ
Shopify จะปรับขนาดภาพของคุณให้เหมาะกับหน้าจอขนาดเล็กโดยอัตโนมัติ แต่หากคุณใช้แพลตฟอร์มอื่น อาจต้องปรับภาพด้วยตนเองเพื่อให้แสดงผลได้ดีบนมือถือ ทั้งนี้ อย่าลืมว่าหน้าจอเดสก์ท็อปและมือถือมีสัดส่วนการแสดงผลที่ต่างกัน
อีกครั้งที่ต้องเน้นว่า ไฟล์ภาพขนาดใหญ่จะทำให้เว็บไซต์โหลดช้าลง แม้ว่าการบีบอัดแบบไม่สูญเสียคุณภาพ (Lossless compression) จะให้ภาพที่คมชัดที่สุด แต่ก็มักสร้างไฟล์ที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจทำให้เว็บไซต์โหลดนานเกินไป
ลองใช้ไฟล์ภาพที่เล็กที่สุดเท่าที่จะให้ความละเอียดดีได้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
แม้ว่า Shopify จะมีระบบดีไซน์ที่ตอบสนองอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมอัลกอริธึมที่ช่วยปรับภาพโดยอัตโนมัติ แต่การช่วยเหลือด้วยการเลือกขนาดไฟล์ภาพอย่างรอบคอบก็ช่วยให้ประสบการณ์ช้อปปิ้งลื่นไหลยิ่งขึ้น
ประเภทไฟล์ภาพแบบไหนดีที่สุด?
การเลือกประเภทไฟล์ภาพที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้รูปคุณภาพดี ในขณะที่ยังควบคุมขนาดไฟล์ได้ เพื่อให้เว็บไซต์โหลดเร็วและทำงานได้มีประสิทธิภาพ
นี่คือตัวอย่างประเภทไฟล์ภาพที่ใช้กันทั่วไป พร้อมกับกรณีที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ดังต่อไปนี้
JPEG
JPEG (หรือ JPG) เป็นหนึ่งในไฟล์ภาพดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะให้สมดุลที่ดีระหว่างขนาดไฟล์และคุณภาพของภาพ เหมาะสำหรับการแสดงภาพถ่ายหรือภาพที่มีความซับซ้อนและสีสันหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม JPEG ใช้การบีบอัดแบบ Lossy ซึ่งหมายความว่าจะสูญเสียคุณภาพของภาพบางส่วนเมื่อมีการบีบอัดไฟล์
PNG
PNG เป็นไฟล์ภาพที่ใช้การบีบอัดแบบไม่สูญเสียคุณภาพ (lossless compression) ซึ่งหมายความว่าสามารถลดขนาดไฟล์ได้โดยที่คุณภาพของภาพยังคงเดิม นอกจากนี้ยังรองรับพื้นหลังโปร่งใส จึงเหมาะกับภาพที่ต้องการพื้นหลังโปร่ง เช่น โลโก้หรือภาพกราฟิกบางประเภท
แม้ว่าไฟล์ PNG มักจะมีขนาดใหญ่กว่า JPEG แต่ข้อดีคือสามารถรักษาความคมชัดได้ดี เหมาะสำหรับกราฟิกที่มีรายละเอียดมาก โลโก้ หรือภาพที่ต้องการความชัดเจนสูง
SVG
SVG (Scalable Vector Graphic) เป็นไฟล์ภาพแบบเวกเตอร์ ซึ่งหมายความว่าใช้สมการทางคณิตศาสตร์ในการแสดงผลภาพ ทำให้สามารถขยายหรือย่อภาพได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพ
SVG เหมาะสำหรับโลโก้ ไอคอน และกราฟิกอื่นๆ ที่ต้องใช้งานในหลายตำแหน่งหรือหลายขนาด โดยทั่วไปแล้วไฟล์ SVG ยังมีขนาดเล็กกว่าไฟล์ภาพแบบอื่นๆ ช่วยให้เว็บไซต์โหลดได้เร็วขึ้นอีกด้วย
HEIC
HEIC (High Efficiency Image Format) เป็นไฟล์ภาพที่ใช้งานบนอุปกรณ์ของ Apple โดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดขั้นสูง ทำให้ได้ภาพคุณภาพสูงในขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า JPEG
อย่างไรก็ตาม HEIC ยังไม่รองรับการใช้งานอย่างแพร่หลายบนอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของ Apple
WebP
WebP เป็นไฟล์ภาพที่พัฒนาโดย Google รองรับการบีบอัดแบบไม่สูญเสียคุณภาพ (lossless compression) และสามารถลดขนาดไฟล์ได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับ JPEG หรือ PNG
ข้อดีคือช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ต้องทราบว่า WebP ยังไม่รองรับบนเบราว์เซอร์ทุกตัว
GIF
GIF เป็นไฟล์ภาพแบบบิตแมปที่รู้จักกันดีในเรื่องการรองรับภาพเคลื่อนไหวแบบง่าย โดยใช้การบีบอัดแบบไม่สูญเสียคุณภาพ และจำกัดจำนวนสีไว้ที่ 256 สี ทำให้ขนาดไฟล์เล็ก
แม้ว่า GIF จะถูกแทนที่ด้วย PNG ในการใช้งานภาพนิ่ง แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมสำหรับภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ที่วนซ้ำ และสามารถแสดงผลได้บนเบราว์เซอร์เกือบทุกประเภท
TIFF
TIFF (Tagged Image File Format) เป็นไฟล์ภาพคุณภาพสูงที่ใช้การบีบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูล (lossless) และได้รับการรองรับจากโปรแกรมแต่งภาพส่วนใหญ่ เหมาะสำหรับการเก็บภาพที่ใช้ในการพิมพ์ระดับมืออาชีพ เพราะให้ความละเอียดและความลึกของสีที่ยอดเยี่ยม
TIFF ยังสามารถเก็บภาพหรือหลายหน้าไว้ในไฟล์เดียวได้อย่างสะดวก แต่ข้อเสียคือขนาดไฟล์มักจะใหญ่กว่าฟอร์แมตอื่นๆ มาก
วิธีเช็กขนาดรูปเว็บไซต์
วิธีที่เร็วที่สุดในการดูขนาดภาพบนหน้าเว็บโดยไม่ต้องดาวน์โหลด คือการใช้เครื่องมือ Inspect ของเบราว์เซอร์
วิธีนี้เช็กขนาดรูปเว็บไซต์นี้ใช้ได้ทั้งบน Mac และ Windows โดยรองรับเบราว์เซอร์ Safari, Chrome และ Firefox
เพียงไปที่หน้าเว็บที่ต้องการ จากนั้นเลื่อนเมาส์ไปที่ภาพที่คุณอยากดูข้อมูล คลิกขวาแล้วเลือก “Inspect” หรือ “ตรวจสอบ” จากเมนูที่ปรากฏขึ้น
เบราว์เซอร์จะแสดงข้อมูลของภาพ รวมถึงขนาดจริง (actual size) และขนาดที่แสดงผลบนหน้าจอ (rendered size) อย่างละเอียด

เมื่อคุณคลิก “Inspect” จะมีหน้าต่างแสดงโค้ด HTML ของหน้าเว็บปรากฏขึ้น (ซึ่งอาจดูซับซ้อนในตอนแรก แต่อย่าเพิ่งตกใจ)
ในหน้าต่างตรวจสอบนั้น จะมีข้อมูลของภาพที่คุณคลิกไว้ปรากฏและถูกไฮไลต์ไว้โดยอัตโนมัติ หากคุณเลื่อนเมาส์ไปวางบนโค้ดส่วนนั้น ภาพบนหน้าเว็บก็จะถูกไฮไลต์ขึ้นมาด้วย ทำให้คุณเห็นได้ชัดเจนว่ากำลังดูข้อมูลของภาพใดอยู่

ในกรณีนี้ เบราว์เซอร์จะแสดงจำนวนพิกเซลที่ภาพใช้งานอยู่ในขณะนั้น หากคุณปรับขนาดหน้าต่างเบราว์เซอร์ ตัวเลขนี้ก็จะเปลี่ยนตามขนาดการแสดงผล
แต่หากคุณต้องการดูข้อมูลต้นฉบับของภาพ เช่น ขนาดจริงที่อัปโหลดไว้ ให้เลื่อนเมาส์ไปวางเหนือ “ลิงก์เก็บภาพ” (Image source link) เบราว์เซอร์จะแสดงข้อมูลขนาดดั้งเดิมของไฟล์ภาพให้แบบคร่าวๆ ผ่านกล่องแสดงผล (Tooltip)

หากต้องการปิดหน้าต่าง Inspector ก็เพียงคลิกเครื่องหมาย X ที่มุมขวาบนของหน้าต่างนั้น
เครื่องมือปรับแต่งภาพให้เหมาะกับเว็บไซต์
เครื่องมือออนไลน์สำหรับปรับขนาดและบีบอัดภาพเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว (และส่วนใหญ่ใช้ฟรี) ในการเพิ่มประสิทธิภาพของภาพบนเว็บไซต์ของคุณ
ต่อไปนี้คือ 3 เครื่องมือยอดนิยมที่คุณสามารถลองใช้ได้
Image Resizer

เครื่องมือปรับขนาดภาพออนไลน์ของ Shopify ที่ให้ใช้งานฟรี เป็นตัวช่วยที่สะดวกมากสำหรับการปรับภาพให้เหมาะกับการใช้งานในช่องทางการตลาดและโซเชียลมีเดียต่างๆ
คุณสามารถเลือกขนาดรูปเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐานสำหรับโพสต์ Instagram, สตอรี่, ภาพปก YouTube และคอนเทนต์โซเชียลประเภทอื่นๆ ได้ตามต้องการ
Image Optimizer by Squirai

เครื่องมือปรับภาพของ Squirai ได้รับการทดสอบด้านความเร็ว เพื่อให้มั่นใจว่าภาพของคุณพร้อมสำหรับ SEO โดยจะปรับแต่งภาพทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณโดยอัตโนมัติ รวมถึงภาพใหม่ที่คุณอัปโหลดในภายหลังด้วย
นอกจากนี้ คุณยังสามารถปรับแต่งลายน้ำและใส่ลงในภาพสินค้าได้เอง เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ภาพถ่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องโค้ดเลย
LoyaltyHarbour Image Optimizer

LoyaltyHarbour Image Optimizer ทำงานในลักษณะคล้ายกับเครื่องมือของ Squirai โดยจะบีบอัดภาพทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณแบบอัตโนมัติ
จุดเด่นเพิ่มเติมคือมีแดชบอร์ดที่ให้คุณตั้งค่า Alt text ของภาพได้โดยอัตโนมัติ และแปลงไฟล์ภาพเป็นประเภทที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ
หรือถ้าคุณมีทักษะด้านกราฟิกอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ Photoshop เพื่อลดขนาดไฟล์ภาพได้เช่นกัน แม้ว่าวิธีจัดขนาดรูปเว็บไซต์นี้จะซับซ้อนกว่าวิธีข้างต้นเล็กน้อยก็ตาม
การแก้ปัญหาการจัดรูปแบบภาพบนเว็บไซต์
ระหว่างการจัดการเว็บไซต์ คุณอาจต้องเจอกับปัญหาด้านการจัดรูปแบบภาพไม่มากก็น้อย ตั้งแต่ขนาดภาพไม่ถูกต้องไปจนถึงลิงก์ภาพเสีย
มาดูวิธีแก้ปัญหาทั่วไปที่มักเกิดขึ้นกับภาพบนเว็บไซต์กันดีกว่า
ปัญหาขนาดรูปเว็บไซต์ไม่ถูกต้อง
ปัญหา: ภาพแสดงผลใหญ่หรือเล็กเกินไป ทำให้หน้าเว็บเสียรูปแบบ และส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน
วิธีแก้: หากคุณใช้ธีมหรือเทมเพลตเว็บไซต์ ลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับขนาดภาพที่เหมาะสมกับดีไซน์นั้น ๆ และในโปรแกรมสร้างเว็บไซต์ ควรกำหนด “ขนาดแสดงผล” ของแต่ละภาพให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ภาพแสดงผลเต็มขนาดต้นฉบับ
เว็บไซต์โหลดช้า
ปัญหา: ภาพโหลดช้ากว่าส่วนอื่นของหน้าเว็บ หรือไม่โหลดเลย
วิธีแก้: การใช้ไฟล์ภาพในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ลองใช้เครื่องมือปรับขนาดหรือแปลงไฟล์ภาพ เพื่อเปลี่ยนเป็นฟอร์แมตที่เหมาะสม เช่น ใช้ SVG สำหรับโลโก้หรือกราฟิกที่ต้องการความคมชัด และใช้ WebP สำหรับภาพทั่วไปเพื่อลดขนาดไฟล์โดยไม่เสียคุณภาพ
ภาพไม่ชัด / ภาพแตก
ปัญหา: ภาพแสดงผลเป็นพิกเซลหรือเบลอ
วิธีแก้: หากภาพไม่ชัด ให้ลองใช้เวอร์ชันความละเอียดสูงขึ้น อย่าลืมว่า “ความละเอียดของภาพ” (resolution) ไม่เหมือนกับ “ขนาดภาพ” โดยความละเอียดจะวัดจากจำนวนพิกเซลต่อนิ้ว (PPI) ซึ่งยิ่งมีค่ามาก ภาพก็จะยิ่งคมชัดไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ก็ตาม
ถ้าคุณภาพภาพลดลงเพราะการบีบอัด ลองปรับค่าการบีบอัดให้น้อยลง หรือเลือกใช้ฟอร์แมตที่ไม่ลดคุณภาพ เช่น PNG
ภาพไม่แสดงผลเลย
ปัญหา: ลิงก์ภาพเสีย ทำให้ภาพไม่แสดง
วิธีแก้: ตรวจสอบ URL ที่อยู่ของภาพ ว่าชี้ไปยังตำแหน่งไฟล์ภาพจริงหรือไม่ และตรวจสอบว่า “ชื่อไฟล์” ที่ใส่ใน URL ตรงกับชื่อไฟล์จริงทุกตัวอักษร รวมถึงนามสกุลไฟล์ (.jpg, .png, .svg) ด้วย
เพิ่มประสิทธิภาพขนาดรูปเว็บไซต์ให้พร้อมสู่ความสำเร็จ
การใส่ภาพบนเว็บไซต์ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และส่งผลต่ออันดับในผลการค้นหาของ Google ด้วย
ขนาดของภาพส่งผลต่อทั้งสองด้าน หากไฟล์ใหญ่เกินไป หน้าเว็บก็จะโหลดช้า แต่ถ้าเล็กเกินไป ภาพอาจแตกหรือเบลอจนดูไม่ชัดเจน
ดังนั้น ควรเข้าใจข้อกำหนดด้านขนาดภาพของดีไซน์เว็บไซต์ของคุณ และเลือกใช้ประเภทไฟล์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ความคมชัดที่ดีในขนาดไฟล์ที่พอดี
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับขนาดรูปเว็บไซต์
ขนาดรูปเว็บไซต์ที่ดีที่สุดควรอยู่ที่เท่าไร?
สำหรับภาพที่แสดงแบบเต็มหน้าจอ ควรมีความกว้างอย่างน้อย 2500 พิกเซล อย่างไรก็ตาม ขนาดรูปเว็บไซต์ ที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ตำแหน่งการแสดงผล และผลกระทบจากขนาดไฟล์ต่อความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ
ฟอร์แมตภาพแบบไหนดีที่สุดสำหรับเว็บไซต์?
WebP เป็นฟอร์แมตภาพที่ได้รับความนิยมสำหรับเว็บไซต์ เพราะช่วยให้โหลดเร็วขึ้น โดย WebP ซึ่งพัฒนาโดย Google รองรับการบีบอัดแบบไม่สูญเสียคุณภาพ และสามารถลดขนาดไฟล์ได้มากถึง 30% เมื่อเทียบกับ JPEG และ PNG แต่ควรทราบว่า WebP ยังไม่รองรับบนทุกเบราว์เซอร์
ความแตกต่างระหว่าง ขนาดรูปภาพ กับ ความละเอียด คืออะไร?
ขนาดรูปภาพ หมายถึงความกว้างและความสูงของภาพที่วัดเป็นพิกเซล เช่น 1200x800 พิกเซล ส่วน ความละเอียดของภาพ หมายถึงรายละเอียดของภาพ ซึ่งมักวัดเป็นพิกเซลต่อนิ้ว (PPI) ความละเอียดที่สูงกว่าจะให้ภาพที่คมชัดและมีรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าขนาดของภาพจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
ขนาดรูปเว็บไซต์มีผลต่อเวลาโหลดหน้าเว็บอย่างไร?
ขนาดไฟล์ภาพที่ใหญ่จะใช้เวลานานในการโหลดและแสดงผล ซึ่งส่งผลให้หน้าเว็บโหลดช้าลง อาจกระทบต่อประสบการณ์ผู้ใช้งานและอันดับ SEO ดังนั้นควรปรับแต่งภาพให้สมดุลระหว่างคุณภาพกับขนาดไฟล์
จะลดขนาดไฟล์รูป โดยไม่ลดคุณภาพได้อย่างไร?
สามารถใช้เทคนิคการบีบอัดแบบไม่สูญเสียข้อมูล (Lossless compression) ซึ่งจะลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกจากไฟล์ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของภาพ เครื่องมืออย่าง Adobe Photoshop หรือเว็บย่อภาพออนไลน์สามารถช่วยปรับภาพให้เหมาะสมได้ง่ายและรวดเร็ว