การระดมทุนผ่านเว็บระดมทุน (Crowdfunding) เป็นวิธีที่นวัตกรรมในการระดมเงินจากนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมาก คุณสามารถใช้เว็บระดมทุนเพื่อระดมเงินจากกลุ่มผู้ติดตามที่มีอยู่แล้ว หรือจากนักลงทุนที่มีความกระตือรือร้นในแพลตฟอร์มการระดมทุน
การระดมทุนไม่ใช่แค่กลยุทธ์การระดมเงินออนไลน์ แต่เป็นการเคลื่อนไหว ในปี 2024 การระดมทุนจะช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 1.03 พันล้านดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแคมเปญระดมทุนเฉลี่ยสามารถระดมเงินได้เกือบ 8,000 ดอลลาร์
นอกจากนี้ การระดมทุนยังช่วยให้คุณสามารถทดสอบสินค้าหรือไอเดียเนื้อหาใหม่ๆ และวัดความต้องการของตลาด คุณสามารถแลกสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น สิทธิในการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า ของขวัญ การเข้าถึงพิเศษ หรือหุ้นส่วนในบริษัท เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเงิน
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้ว่าเว็บระดมทุนคืออะไร และค้นพบ 10 อันดับเว็บระดมทุนที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ สินค้า การสร้างคอนเทนต์ หรือโครงการเพื่อสังคม
การระดมทุน คืออะไร?
เว็บระดมทุน เป็นวิธีการระดมทุนที่ให้หลายคนร่วมกันสนับสนุนธุรกิจด้วยการลงทุนเพียงเล็กน้อยจากแต่ละคน ซึ่งแตกต่างจากการระดมทุนแบบดั้งเดิมที่มักจะได้รับการลงทุนจำนวนมากจากแหล่งที่จำกัด เช่น นักลงทุนที่ได้รับการรับรองหรือบริษัททุนร่วมลงทุน
📚 อ่านเพิ่มเติม: วิธีระดมทุน คำแนะนำจากมือโปร พร้อมตัวอย่างแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ
ระบบคราวด์ฟันดิ้งบนเว็บระดมทุน เป็นยังไง?
ผู้สนับสนุนโครงการคราวด์ฟันดิ้งจะได้รับสิ่งตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการบริจาคและสนับสนุนโครงการ ซึ่งสิ่งตอบแทนอาจมีตั้งแต่
- สิทธิ์ในการซื้อสินค้าได้ก่อนใคร และอาจได้ในราคาพิเศษ
- โอกาสในการสั่งจองสินค้าล่วงหน้า พร้อมมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสินค้า
- รางวัลพิเศษ เช่น ส่วนลดอย่างต่อเนื่อง, สถานะลูกค้าคนพิเศษ, หรือของที่ระลึกฟรี
- การเข้าถึงทีมผู้ก่อตั้งหรือเครือข่ายผู้สนับสนุนโครงการ
- สิทธิ์ถือหุ้นในโครงการ
- คอนเทนต์พิเศษที่มีให้เฉพาะผู้สนับสนุน
ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม, ค่าธรรมเนียมการทำรายการ และค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชำระเงิน
แม้แต่ละเว็บไซต์จะมีฟีเจอร์ โครงสร้างค่าธรรมเนียม และกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน แต่แนวคิดหลักก็เหมือนกัน คือ คุณนำเสนอโครงการของคุณผ่านแพลตฟอร์ม ระบุเป้าหมายและกำหนดเวลาระดมทุน จากนั้นเริ่มแคมเปญเพื่อหาผู้สนับสนุน
กำลังมองหากลยุทธ์ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งอยู่หรือเปล่า? นี่คือรายชื่อเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดในปี 2024
10 เว็บระดมทุนที่น่าสนใจที่สุดในปีนี้
- ตัวเลือกอันดับหนึ่ง Kickstarter
- อีกหนึ่งตัวเลือกยอดนิยม Indiegogo
- เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก Fundable
- เหมาะกับร้านค้า Shopify Crowdfunder
- ตอบโจทย์ครีเอเตอร์และนักสร้างสรรค์ Patreon
- เหมาะสำหรับผู้ใช้งานในสหราชอาณาจักรและยุโรป Crowdcube
- เหมาะกับการระดมทุนส่วนตัว GoFundMe
- เหมาะกับองค์กรไม่แสวงหากำไร Mightycause
- เหมาะสำหรับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ CrowdStreet
- เหมาะกับสตาร์ทอัพที่มองหาการเติบโตอย่างก้าวกระโดด StartEngine
1. Kickstarter
เว็บระดมทุนที่มีภาพรวมดีที่สุด

Kickstarter เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการระดมทุนออนไลน์ที่มีชื่อเสียงที่สุด
Kickstarter ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ที่มีชื่อเสียงที่สุด จนแทบจะกลายเป็นคำพ้องกับคำว่าคราวด์ฟันดิ้งไปแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2009 ชุมชนผู้สนับสนุนบน Kickstarter ได้ร่วมกันระดมทุนให้กับโครงการต่างๆ กว่า 250,000 โครงการ ทั้งสินค้าแบบจับต้องได้และดิจิทัล
Kickstarter เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบรางวัลในการดึงดูดผู้สนับสนุน ผู้ระดมทุนมักจะมอบสิทธิพิเศษ เช่น ส่วนลดสำหรับการสั่งซื้อล่วงหน้า ของขวัญ หรือการขอบคุณอย่างเป็นทางการ และบางโครงการก็ออกแบบรางวัลแบบเป็นขั้นบันได ยิ่งสนับสนุนมาก ยิ่งได้รางวัลพิเศษมากขึ้น
แคมเปญบน Kickstarter ใช้รูปแบบ "ได้ทั้งหมดหรือไม่ได้เลย" หมายความว่า คุณจะได้รับเงินทุน (และเสียค่าธรรมเนียมให้ Kickstarter) ก็ต่อเมื่อสามารถระดมทุนได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น หากระดมทุนไม่ถึงเป้า เงินทั้งหมดจะถูกส่งคืนให้ผู้สนับสนุนทันที
โครงการที่นำเสนอผ่าน Kickstarter มักจะมีคุณภาพสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่โดดเด่นพอจะดึงดูดทั้งกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มแรกและสื่อมวลชนได้ ผู้สนับสนุนเองก็มักจะให้ความเชื่อถือ เพราะรู้ว่าพวกเขาจะถูกเรียกเก็บเงินก็ต่อเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ
คุณสามารถอ่านเรื่องราวความสำเร็จจากการระดมทุนบน Kickstarter ได้จากโครงการของ Rockwell Razors, SaniKind และ LastObject
ค่าธรรมเนียมโครงการที่ระดมทุนสำเร็จจะเสียค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม 5% และค่าธรรมเนียมการทำรายการระหว่าง 3%-5% พร้อมค่าธรรมเนียมคงที่ 0.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการสนับสนุนหนึ่งครั้ง ส่วนการสนับสนุนที่น้อยกว่า 10 ดอลลาร์ จะเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ 5% บวก 0.08 ดอลลาร์ต่อครั้ง
ข้อดี:
- ชุมชนขนาดใหญ่และมีผู้ใช้งานที่มีส่วนร่วมสูง
- ระบบได้ทั้งหมดหรือไม่ได้เลย กระตุ้นให้ระดมทุนได้จริง
- เหมาะกับโครงการสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ
ข้อเสีย:
- จะไม่ได้รับเงินเลยหากไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
- มีค่าธรรมเนียม 5% บวกค่าธรรมเนียมการทำรายการ
- ไม่เหมาะสำหรับโครงการส่วนตัวหรือการกุศล
2. Indiegogo
แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งรองชนะเลิศ

Indiegogo เป็นเว็บระดมทุนที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจ ศิลปิน และองค์กรไม่แสวงหากำไร มาพร้อมเครื่องมือและตัวเลือกการจัดแคมเปญที่ใช้งานง่าย คล้ายกับ Kickstarter
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ Indiegogo เปิดโอกาสให้คุณเลือกได้ระหว่างการตั้งเป้าหมายแบบยืดหยุ่นหรือแบบตายตัว หากเลือกแบบยืดหยุ่น คุณจะได้รับเงินสนับสนุนที่ระดมได้ ไม่ว่าคุณจะทำยอดถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ก็ตาม
ตัวเลือกแบบยืดหยุ่นนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการที่ดำเนินงานเป็นหลายช่วง เพราะคุณสามารถนำเงินบางส่วนที่ได้รับไปเริ่มส่งมอบบางส่วนของโครงการให้ผู้สนับสนุนได้ทันที ช่วยให้สามารถเดินหน้าโครงการได้แม้จะยังไม่ได้รับเงินครบตามเป้า
นอกจากนี้ Indiegogo ยังมีฟีเจอร์ InDemand ที่ช่วยต่อยอดระดมทุนหลังแคมเปญหลักจบลงแล้ว เหมาะสำหรับการหาเงินเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มเติม ชำระต้นทุนการจัดส่ง หรือขยายฐานลูกค้าหลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์
Indiegogo เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 5% ของยอดระดมทุนทั้งหมด และมีค่าธรรมเนียมการทำรายการ 3% บวกประมาณ 7 บาท ต่อรายการ
ข้อดี:
- มีตัวเลือกเป้าหมายระดมทุนแบบยืดหยุ่น
- รองรับโครงการหลากหลายประเภท
- สามารถระดมทุนต่อเนื่องได้แม้แคมเปญหลักจะจบแล้ว
ข้อเสีย:
- มีค่าธรรมเนียม 5% บวกค่าธรรมเนียมการทำรายการ
- ชุมชนผู้ใช้งานมีขนาดเล็กกว่า Kickstarter
- ตัวเลือกแบบยืดหยุ่นอาจเสี่ยงทำให้ได้เงินไม่ครบตามความต้องการ
💡 ร้านค้า Shopify ชื่อ BodyBoss เปลี่ยนมาใช้ฟีเจอร์ InDemand ของ Indiegogo หลังจากประสบความสำเร็จจากแคมเปญ Kickstarter
3. Fundable
แพลตฟอร์มคราวด์ระดมทุนที่เหมาะที่สุดสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

Fundable เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม Startups.com และถือเป็นหนึ่งในเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งชั้นนำของสหรัฐฯ ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพแลกรางวัลหรือหุ้นเพื่อระดมทุน
แพลตฟอร์มนี้มีทั้งตัวเลือกสำหรับการระดมทุนแบบจัดการเอง และบริการเสริมที่ช่วยสนับสนุนแคมเปญ เช่น การช่วยทำสไลด์พรีเซนต์ (Pitch Deck) และการค้นหากลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ คุณยังสามารถใช้ Fundable เพื่อวางแผนกิจกรรมระดมทุนและติดตามความสนใจจากนักลงทุนได้อีกด้วย
ตามข้อมูลจาก Fundable สตาร์ทอัพที่เลือกระดมทุนแบบให้รางวัลตอบแทน มักจะได้เงินทุนรวมไม่มากนักแต่ได้ผู้สนับสนุนจำนวนมาก ในขณะที่การระดมทุนแบบแลกหุ้น มักจะได้เงินทุนก้อนใหญ่จากนักลงทุนน้อยราย
หากต้องการประสบความสำเร็จในการระดมทุนแบบแลกหุ้น คุณต้องเตรียมข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนต้องการ เช่น ข้อมูลการเติบโตของธุรกิจ สไลด์พรีเซนต์ และแผนธุรกิจที่ชัดเจน
ค่าบริการประมาณ 6,400 บาทต่อเดือน โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมความสำเร็จ
ข้อดี
- เลือกได้ว่าจะมอบรางวัลหรือแลกหุ้น
- มีบริการสนับสนุนแคมเปญในตัว
- เป็นมิตรกับสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดเล็ก
ข้อเสีย
- มีค่าบริการรายเดือนค่อนข้างสูง
- ขั้นตอนการสมัครซับซ้อนกว่าบางแพลตฟอร์ม
- การระดมทุนแบบแลกหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลการเงินอย่างละเอียด
4. Crowdfunder
แอปคราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดสำหรับร้านค้า Shopify

ถ้าคุณมีร้านค้า Shopify อยู่แล้ว และต้องการระดมทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง Crowdfunder คือแอปที่น่าสนใจที่ควรพิจารณา
แพลตฟอร์มระดมทุนส่วนใหญ่ รวมถึงแอประดมทุนหลายตัว มักจะบังคับให้คุณใช้เว็บไซต์ของพวกเขาสำหรับจัดการแคมเปญ แต่ Crowdfunder แตกต่างออกไป เพราะช่วยให้คุณเปลี่ยนหน้าสินค้าบนเว็บไซต์ของตัวเองให้กลายเป็นหน้าแคมเปญคราวด์ฟันดิ้งได้ พร้อมฟังก์ชันอย่างแถบแสดงความคืบหน้า ตัวนับจำนวนยอดสนับสนุน และปุ่มสั่งซื้อล่วงหน้า
Crowdfunder ช่วยทำให้การระดมทุนง่ายขึ้นในรูปแบบที่ตรงไปตรงมา เปิดรับพรีออเดอร์จากลูกค้าเพื่อนำไปใช้ยืนยันไอเดียและเป็นทุนในการผลิต นอกจากนี้ ยังเก็บค่าบริการรายเดือนที่แน่นอน ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นตามเปอร์เซ็นต์เหมือนแพลตฟอร์มอื่น
คุณสามารถใช้ Crowdfunder เพื่อสำรวจความสนใจของลูกค้า ทดสอบไอเดียสินค้าใหม่ ระดมทุนเพื่อกิจกรรมพิเศษ หรือเปิดตัวสินค้ารุ่นลิมิเต็ดก็ได้
ค่าธรรมเนียม: 860 บาทต่อเดือน
ข้อดี
- เปลี่ยนหน้าสินค้าให้กลายเป็นหน้าแคมเปญคราวด์ฟันดิ้งได้ง่ายๆ
- เหมาะสำหรับเจ้าของร้านค้า Shopify โดยเฉพาะ
- เก็บค่าบริการเป็นรายเดือน ไม่เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์
ข้อเสีย
- ไม่มีคอมมูนิตี้หรือมาร์เก็ตเพลสในตัว
- ใช้งานได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่บน Shopify เท่านั้น
5. Patreon
เว็บระดมทุนที่ดีที่สุดสำหรับครีเอเตอร์

Patreon ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับนักสร้างสรรค์ดิจิทัลโดยเฉพาะ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนทำพอดแคสต์ นักดนตรี นักพัฒนาเกม หรือผู้ผลิตวิดีโอ
ในขณะที่เว็บระดมทุนทั่วไปมักรองรับแคมเปญระยะสั้น Patreon ใช้รูปแบบสมาชิกรายเดือน แฟนๆ จะสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงสิทธิพิเศษต่างๆ พร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้คนรักคอนเทนต์เดียวกัน
Patreon ช่วยให้นักสร้างคอนเทนต์และอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มแฟนคลับ โดยเลือกได้ว่าจะเก็บเงินแบบรายเดือนหรือจ่ายตามผลงานแต่ละชิ้น นอกจากนี้ Patreon ยังรองรับการชำระเงินผ่านช่องทางเหล่านี้
- บัตรเครดิต
- Apple Pay
- PayPal
- Venmo
ครีเอเตอร์บน Patreon สามารถเสนอสิทธิพิเศษหลากหลายตามระดับการสนับสนุน เช่น การเข้าถึงคอนเทนต์เฉพาะสมาชิก สินค้าพิเศษของแบรนด์ ชมตัวอย่างผลงานก่อนใคร การกล่าวขอบคุณ และอื่นๆ ตัวแพลตฟอร์มยังรองรับการอัปโหลดวิดีโอ ถ่ายทอดสด จัดฟอรั่ม หรือกลุ่มจดหมายข่าวสำหรับสมาชิกได้ด้วย
Patreon หักค่าบริการระหว่าง 8%-12% ของรายได้ที่คุณได้รับ ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เลือกใช้งาน และยังมีค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชำระเงินสูงสุดประมาณ 6% บวกประมาณ 4 บาทต่อรายการ (10 เซนต์สหรัฐฯ)
ข้อดี
- เหมาะสำหรับการระดมทุนแบบสมัครสมาชิก
- ช่วยสร้างและดูแลคอมมูนิตี้ของแฟนคลับ
- รองรับการเชื่อมต่อกับฟีเจอร์ต่างๆ อย่างครบครัน
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะสำหรับโครงการที่จัดครั้งเดียวจบ
- ค่าธรรมเนียม 8%-12% ของรายได้
- ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานผู้สนับสนุน
💡 เรียนรู้วิธีที่นักสร้างคอนเทนต์อย่าง Wait But Why ใช้ Patreon เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
6. Crowdcube
เว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักรและยุโรป

เจ้าของธุรกิจที่อยู่นอกสหรัฐฯ ควรตรวจสอบเงื่อนไขการใช้งานของเว็บระดมทุนก่อนหน้านี้ให้ดี เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ได้ครบถ้วน
ต่างจากแพลตฟอร์มที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ Crowdcube เป็นเว็บระดมทุนแบบแลกหุ้น (Equity Crowdfunding) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร และออกแบบมาเพื่อรองรับธุรกิจในยุโรปโดยเฉพาะ คุณสามารถตั้งแคมเปญระดมทุนได้หลายรูปแบบบน Crowdcube ไม่ว่าจะเป็นรอบระดมทุนแบบส่วนตัวหรือรอบติดตามเพิ่มเติม
คล้ายกับ Fundable โดย Crowdcube รองรับการจัดการรอบระดมทุนในอนาคต และการแจกจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนด้วย
แม้ Crowdcube จะมีจำนวนแคมเปญไม่มากนัก แต่บริษัทที่ได้รับอนุมัติและสามารถระดมทุนสำเร็จบนแพลตฟอร์มจะได้เข้าร่วม Funded Club ของ Crowdcube พร้อมรับสิทธิประโยชน์พิเศษจากพันธมิตรต่างๆ
คุณสามารถโปรโมตแคมเปญ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากเครือข่ายของคุณ หรือขยายไปยังคอมมูนิตี้ของ Crowdcube ที่มีอยู่แล้ว
Crowdcube หักค่าธรรมเนียม 7% จากยอดระดมทุนที่สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมปิดดีลเพิ่มเติม 0.75%-1.5% และค่าธรรมเนียมประมวลผลการชำระเงินสูงสุด 2.9%
ข้อดี
- ออกแบบมาเพื่อรองรับธุรกิจในยุโรป
- รองรับการระดมทุนแลกหุ้นหลากหลายรูปแบบ
- มีสิทธิพิเศษสำหรับแคมเปญที่ระดมทุนสำเร็จ
ข้อเสีย
- มีค่าธรรมเนียม 7% บวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
- ไม่เหมาะสำหรับธุรกิจที่อยู่นอกยุโรป
- มีจำนวนแคมเปญน้อยเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น
7. GoFundMe
เว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดสำหรับการระดมทุนส่วนตัว

GoFundMe เป็นแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งฟรีที่เน้นการระดมทุนเพื่อบุคคลทั่วไป กิจกรรมการกุศล และโครงการเพื่อชุมชน
เนื่องจาก GoFundMe ถูกออกแบบมาสำหรับการระดมทุนส่วนตัว ใครๆ ก็สามารถสร้างแคมเปญของตัวเองได้ ผู้สนับสนุนบนแพลตฟอร์มมักจะให้การสนับสนุนโครงการที่มาจากเครือข่ายส่วนตัว ชุมชนท้องถิ่น หรือโครงการที่สอดคล้องกับความสนใจของพวกเขา เช่น การระดมทุนเพื่อปรับปรุงสนามกีฬาสำหรับเยาวชน
อย่างไรก็ตาม แคมเปญที่ได้รับแรงสนับสนุนมากพอ อาจสามารถขยายกลุ่มผู้สนับสนุนให้กว้างขึ้นได้ แม้ผู้เข้าชมแคมเปญบางรายจะไม่ได้บริจาค แต่พวกเขาอาจช่วยแชร์โปรไฟล์ของคุณและช่วยขยายการเข้าถึงได้
แตกต่างจากเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งอื่นๆ GoFundMe ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการค้าโดยตรง แต่หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหา หรือกำลังเผชิญความท้าทายส่วนตัวที่ต้องการการระดมทุน GoFundMe ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ไม่เก็บค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุน มีเพียงค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชำระเงิน 2.9% บวกประมาณ 11 บาทต่อรายการ (30 เซนต์สหรัฐฯ)
ข้อดี
- เหมาะสำหรับการระดมทุนเพื่อการกุศลและโครงการส่วนตัว
- ไม่มีค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะสำหรับโครงการเชิงพาณิชย์
- ความสำเร็จของแคมเปญมักขึ้นอยู่กับเครือข่ายส่วนตัว
8. Mightycause
เว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร

ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2006 ผู้จัดแคมเปญผ่าน Mightycause สามารถระดมทุนเพื่อกิจกรรมการกุศลได้รวมกันมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Mightycause ไม่ได้ทำงานในรูปแบบแพลตฟอร์มศูนย์กลาง แต่ให้เครื่องมือและฟีเจอร์ต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้บนเว็บไซต์ของตัวเอง เช่น ตัวสร้างหน้าเพจระดมทุน ฟอร์มและปุ่มบริจาค รวมถึงการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย อีเมล และ SMS นอกจากนี้ยังมีระบบ CRM สำหรับสร้างรายงานและสรุปภาพรวมกิจกรรมในรูปแบบกราฟิก
คุณสามารถจัดแคมเปญระดมทุนได้ไม่จำกัด ทั้งแบบเพียร์ทูเพียร์ (เพื่อนชวนเพื่อน) แบบทีม หรือกิจกรรมพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายระดมทุน ดังนั้นถึงแม้จะไม่ได้ยอดตามเป้า ก็ยังสามารถใช้เงินบริจาคที่ได้รับได้
ค่าบริการรายเดือนตั้งแต่ประมาณ 2,800 บาท ถึง 4,300 บาท ขึ้นอยู่กับแผนที่เลือกใช้งาน และมีค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชำระเงินสูงสุด 1.9% บวกประมาณ 18 บาทต่อรายการ (49 เซนต์สหรัฐฯ)
ข้อดี
- มีเครื่องมือครบครันสำหรับการระดมทุนขององค์กรไม่แสวงหากำไร
- ไม่บังคับตั้งเป้าหมายยอดระดมทุน
ข้อเสีย
- ค่าบริการรายเดือนค่อนข้างสูง
- ไม่เหมาะสำหรับโครงการเชิงพาณิชย์
9. CrowdStreet
เว็บระดมทุนที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

CrowdStreet เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายบุคคลสามารถร่วมลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้ ปัจจุบัน CrowdStreet รองรับการลงทุนรวมแล้วมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผู้สนับสนุนโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์สามารถสมัครเพื่อเข้าถึง Marketplace ของ CrowdStreet และระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างหรือโครงการด้านการเงินของตนเอง CrowdStreet ยังมีบริการช่วยดูแลนักลงทุน และสนับสนุนการทำการตลาดดิจิทัลสำหรับแคมเปญระดมทุนแต่ละโครงการด้วย
ด้วยความที่ CrowdStreet เป็นเว็บระดมทุนเฉพาะทาง จึงเหมาะสำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและเน้นโครงการเชิงพาณิชย์เป็นหลัก รายงานแนวโน้มตลาดประจำปีของ CrowdStreet ยังช่วยชี้ให้เห็นว่าโครงการประเภทไหนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุดในแต่ละปี
ค่าธรรมเนียม
โครงสร้างค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไปตามข้อตกลงของแต่ละโครงการ
ข้อดี:
- เป็นแพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
- มีบริการสนับสนุนทั้งด้านการจัดการนักลงทุนและการทำการตลาด
ข้อเสีย:
- ใช้ได้เฉพาะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและก่อตั้งมาแล้ว
- มีขั้นตอนตรวจสอบโครงการอย่างละเอียด
10. StartEngine
เว็บระดมทุนแบบแลกหุ้นที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

StartEngine เป็นเว็บระดมทุนแบบแลกหุ้น (Equity Crowdfunding) ที่เปิดโอกาสให้คุณระดมทุนจากเครือข่ายนักลงทุนมากกว่า 1.8 ล้านคนบนแพลตฟอร์ม
เพื่อให้สามารถระดมทุนจากสาธารณะได้ StartEngine อนุญาตให้ใช้วิธีการระดมทุนผ่าน Regulation Crowdfunding (Reg CF) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎของ SEC ที่เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถระดมทุนได้สูงสุดถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าขั้นตอนนี้จะง่ายกว่าการระดมทุนแบบดั้งเดิมจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง แต่ก็ยังคงมีข้อกำหนดทางการเงินและกฎหมายที่เข้มงวด
โชคดีที่ StartEngine มีบริการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินและจัดเตรียมเอกสารทางกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นแคมเปญ Reg CF ช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนและโครงสร้างพื้นฐานได้ โดยเฉพาะหากจำกัดการระดมทุนไม่เกิน 107,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ต้องรายงานข้อมูลการเงินอย่างละเอียด
StartEngine เหมาะที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพในการเติบโต และพร้อมลงทุนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการเปิดแคมเปญระดมทุน
มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นระหว่าง 5.5%-13% ของยอดระดมทุน ขึ้นอยู่กับข้อตกลง
ข้อดี
- เป็นแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งแบบแลกหุ้น
- มีบริการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินและจัดเตรียมเอกสารทางกฎหมายครบถ้วน
ข้อเสีย
- ต้องเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบอย่างละเอียดก่อนเริ่มแคมเปญ
Shopify รวบรวมรายชื่อเว็บระดมทุนเหล่านี้ยังไง?
การจัดทำรายชื่อเว็บระดมทุนที่ดีที่สุดครั้งนี้ ทีมงานได้ลงลึกศึกษาโลกของคราวด์ฟันดิ้งอย่างละเอียด โดยพิจารณาแพลตฟอร์มมากกว่า 20 แห่ง ทั้งบริการที่มีชื่อเสียงและบริการเฉพาะกลุ่ม
เป้าหมายคือการนำเสนอรายชื่อแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกความต้องการของทั้งผู้ก่อตั้งและนักลงทุน ตั้งแต่โครงการส่วนตัว ไอเดียธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหากำไร ไปจนถึงสตาร์ทอัพ
แต่ละแพลตฟอร์มได้รับการประเมินจากปัจจัยหลักดังต่อไปนี้
- การใช้งาน: ความง่ายในการใช้งานเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น อินเทอร์เฟซของ Patreon ที่ออกแบบมาเป็นมิตรกับทั้งครีเอเตอร์และแฟนคลับถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจ
- ราคา: ค่าใช้จ่ายในการใช้งานแพลตฟอร์มก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยแพลตฟอร์มอย่าง Crowdfunder ที่เก็บค่าบริการรายเดือนแบบคงที่ จะได้รับความนิยมมากกว่าบริการที่มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมซับซ้อน
- เครื่องมือ: ฟีเจอร์และเครื่องมือต่างๆ ก็ได้รับการพิจารณา เช่น ระบบบริหารการระดมทุนและการบริจาคของ Mightycause ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
- อัตราความสำเร็จ: พิจารณาอัตราความสำเร็จของแคมเปญบนแต่ละแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มที่มีอัตราความสำเร็จสูงจะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า
- การสนับสนุนหลังการลงทุน: ฟีเจอร์ที่ช่วยต่อยอดหลังจบแคมเปญ เช่น InDemand ของ Indiegogo ก็ถูกนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ
- ทางเลือกในการลงทุน: รูปแบบการลงทุนที่เปิดให้ผู้สนับสนุนมีทางเลือกหลากหลายก็ถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกเช่นกัน โดยแพลตฟอร์มที่เสนอวิธีการสนับสนุนได้หลายรูปแบบจะได้รับคะแนนพิเศษ
ประโยชน์ของการใช้เว็บระดมทุนกับโปรเจกต์ของคุณ
การระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หลายคนเลือกใช้วิธีนี้ มีดังนี้
เข้าถึงแหล่งทุนได้หลากหลาย
คุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแค่ธนาคารหรือพยายามโน้มน้าวนักลงทุนรายใหญ่เพื่อหาเงินทุนอีกต่อไป เพราะคราวด์ฟันดิ้งเปิดโอกาสให้คุณเข้าถึงผู้สนับสนุนจำนวนมากจากทั่วโลกที่อาจชื่นชอบไอเดียธุรกิจของคุณ บางคนอาจกลายมาเป็นลูกค้าประจำในอนาคตด้วยซ้ำ
ยืนยันความต้องการตลาดที่มีต่อไอเดียของคุณ
หากมีคนยินดีควักเงินสนับสนุนโปรเจกต์ของคุณ นั่นคือหลักฐานชัดเจนว่ามีความต้องการในสิ่งที่คุณนำเสนอ ดีกว่าการคาดเดาไปเองว่าผู้คนจะชอบหรือไม่ นอกจากนี้ คุณยังสามารถนำข้อเสนอแนะจากผู้สนับสนุนมาปรับปรุงไอเดียก่อนจะเดินหน้าเต็มตัวได้อีกด้วย
เพิ่มการมองเห็นและสนับสนุนการทำตลาด
แม้เป้าหมายหลักของคราวด์ฟันดิ้งจะเป็นการระดมทุน แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการโปรโมตโปรเจกต์ของคุณด้วย โครงการของคุณจะได้การเปิดเผยต่อกลุ่มคนจำนวนมากที่อาจไม่เคยรู้จักคุณมาก่อน และเมื่อมีคนสนับสนุน พวกเขามักจะแชร์โปรเจกต์ของคุณต่อไปยังเครือข่ายของตัวเอง ช่วยสร้างกระแสแบบปากต่อปากอย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อแคมเปญเริ่มสร้างกระแสได้สำเร็จ คุณจะสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย และสร้างคอมมูนิตี้รอบแบรนด์ของคุณได้ตั้งแต่ก่อนเปิดตัวสินค้าอย่างเป็นทางการ
เริ่มสร้างเว็บระดมทุนให้กับธุรกิจของคุณวันนี้
การเข้าถึงนักลงทุน ลูกค้าเป้าหมาย หรือแฟนคลับผ่านคราวด์ฟันดิ้ง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เข้าถึงได้ง่ายในการหาเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ หรือเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคุณ นอกจากการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งแล้ว ทุนสนับสนุนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Grants) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมเงินทุนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชำระคืน
มีพ่อค้าแม่ค้า Shopify จำนวนไม่น้อยที่สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วจากเงินทุนที่ระดมผ่านแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งในลิสต์นี้ หากคุณสามารถโปรโมตไอเดียสินค้าและนำเสนอแคมเปญได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย คราวด์ฟันดิ้งก็อาจเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนธุรกิจของคุณได้เช่นกัน
นอกจากนี้ คุณยังสามารถพิจารณาการระดมทุนรูปแบบผสม เช่น การใช้คราวด์ฟันดิ้งร่วมกับการกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือโครงการสนับสนุนเงินทุนของ Shopify เองอย่าง Shopify Capital เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้อีกด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเว็บระดมทุน
เว็บไซต์การระดมทุนจากฝูงชนที่เป็นที่นิยมมีอะไรบ้าง?
เว็บไซต์การระดมทุนจากฝูงชนที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Kickstarter, Indiegogo และ GoFundMe ซึ่งแต่ละแห่งตอบสนองต่อประเภทโครงการและความต้องการในการระดมทุนที่แตกต่างกัน Kickstarter มุ่งเน้นไปที่โครงการสร้างสรรค์ ในขณะที่ GoFundMe มักใช้สำหรับสาเหตุส่วนตัวและเหตุฉุกเฉิน การเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของโครงการและประเภทของผู้ชมที่คุณต้องการเข้าถึง
การทำเว็บระดมทุนคราวด์ฟันดิ้ง มีข้อกำหนดทางกฎหมายหรือไม่?
มีแน่นอน โดยเฉพาะการระดมทุนที่เกี่ยวข้องกับการแลกหุ้นหรือการลงทุน ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ SEC อย่างเคร่งครัด สำหรับการระดมทุนแบบบริจาคหรือให้รางวัล คุณต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษี และส่งมอบของรางวัลหรือสิทธิพิเศษตามที่สัญญาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย
ข้อดีของการทำเว็บระดมทุนคราวด์ฟันดิ้ง มีอะไรบ้าง?
คราวด์ฟันดิ้งมีประโยชน์มากมายสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการหาเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินได้รวดเร็ว ใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาด พิสูจน์แนวคิดทางธุรกิจ และเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มแรก (Early adopters)
ต้องคืนเงินที่ได้จากการทำเว็บระดมทุนหรือไม่?
การคืนเงินขึ้นอยู่กับรูปแบบของคราวด์ฟันดิ้งที่คุณเลือก
- ถ้าเป็นการระดมทุนแบบบริจาค (เช่น GoFundMe) คุณไม่ต้องคืนเงิน
- ถ้าเป็นการระดมทุนแบบให้สิ่งตอบแทน คุณต้องส่งมอบของตอบแทนตามที่สัญญาไว้
- ถ้าเป็นการระดมทุนแบบแลกหุ้น คุณไม่ต้องคืนเงินลงทุน แต่ต้องแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ให้กับนักลงทุนตามที่ตกลง
มีแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งที่ดีที่สุดอะไรบ้าง?
- Kickstarter
- Indiegogo
- Fundable
- Crowdfunder
- Patreon
- Crowdcube
- GoFundMe
- Mightycause
- CrowdStreet
- StartEngine
เว็บระดมทุน Kickstarter กับ Indiegogo ต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือวิธีการรับเงิน Kickstarter จะจ่ายเงินให้คุณก็ต่อเมื่อแคมเปญระดมทุนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วน Indiegogo คุณสามารถรับเงินที่ระดมได้ทันที หรือเลือกที่จะรอดูจนกว่าจะถึงเป้าหมายก็ได้
*เงินกู้จาก Shopify Capital ต้องชำระคืนเต็มจำนวนภายในระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน และมีการชำระเงินขั้นต่ำสองครั้งในช่วงหกเดือนแรก ระยะเวลาที่แท้จริงอาจน้อยกว่า 18 เดือนขึ้นอยู่กับยอดขาย