การทำธุรกิจ e-Commerce เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น คุณสามารถออกแบบแบรนด์ สร้างเว็บไซต์ และนำเสนอสินค้าของคุณสู่ตลาดโลกได้
แต่ก่อนจะลงมือทำตามรายการสิ่งที่ต้องทำ ลองใช้เวลาคิดถึงทิศทางของธุรกิจคุณในระยะยาว คุณจะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้างในอนาคต?
บทความนี้เปรียบเทียบ 11 แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ ดูฟีเจอร์และแพ็กเกจราคาของซอฟต์แวร์เหล่านี้ พร้อมพิจารณาแผนธุรกิจโดยรวมของคุณเมื่อเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่สุด
แพลตฟอร์ม e-Commerce คืออะไร?
แพลตฟอร์ม e-Commerce คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คุณสร้างและดำเนินร้านค้าออนไลน์ รวมถึงจัดการงานค้าปลีกอื่นๆ เช่น การตลาด การบริหารสต็อกสินค้า และการรับชำระเงิน
แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุดช่วยให้เจ้าของร้านสามารถออกแบบเว็บไซต์ที่โดดเด่นและบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเติบโตและขยายตัว
และด้านล่างนี้คือภาพรวมของ 11 แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุดในปี 2025 ที่จะช่วยให้คุณเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับลูกค้าของคุณมากที่สุด
11 แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุด
- Shopify
- Wix
- BigCommerce
- Adobe Commerce
- WooCommerce
- Squarespace
- Big Cartel
- Square Online
- Shift4Shop
- Volusion
- OpenCart
1. Shopify

Shopify เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำที่ช่วยให้คุณขายสินค้าได้ทุกที่ที่ลูกค้าของคุณอยู่ ด้วยซอฟต์แวร์แบบโฮสต์ในตัวที่รองรับทุกด้านของธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่การออกแบบเว็บไซต์และการจัดการสินค้า ไปจนถึงการเงินและการจัดส่งสินค้า
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
Shopify ช่วยให้คุณเริ่มต้นธุรกิจจากที่บ้านและเติบโตจนกลายเป็นแบรนด์ระดับสากลที่มีหน้าร้านจริงได้ (และมีผู้ค้า Shopify หลายรายที่ทำสำเร็จมาแล้ว) แพลตฟอร์มนี้รองรับเส้นทางธุรกิจของคุณทุกขั้นตอน โดยมีระบบจัดการแบบศูนย์กลางที่ช่วยให้คุณบริหารธุรกิจได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งร้านค้า ขายผ่านโซเชียลมีเดีย หรือสำรวจโมเดลค้าปลีกยอดนิยม เช่น ดรอปชิป (Dropshipping)
แพ็กเกจและราคา
ทดลองใช้ Shopify ฟรีโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต แพ็กเกจแบบชำระเงินเริ่มต้นที่ 978 บาทต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
โปรแกรมสร้างร้านออนไลน์
Shopify มาพร้อมโปรแกรมสร้างร้านค้า (Store Builder) ที่ใช้งานง่ายและรองรับมือถือ มีธีมให้เลือกกว่า 100 แบบ โดยไม่ต้องใช้โค้ด คุณสามารถเพิ่มสินค้าได้ไม่จำกัด พร้อมใช้ AI Assistant ในตัวเพื่อช่วยสร้างคำบรรยายสินค้าและจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ และเมื่อธุรกิจเติบโต คุณสามารถเพิ่มฟังก์ชันให้กับเว็บไซต์ได้ผ่าน แอปเสริมจากบุคคลที่สาม หรือพัฒนาหน้าร้านออนไลน์แบบ ปรับแต่งเองได้เต็มรูปแบบ
ฟีเจอร์การขาย
Shopify รองรับการขายผ่านเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส การขายส่งให้ร้านค้าปลีก และการขายหน้าร้านด้วย Shopify POS นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์กู้คืนตะกร้าสินค้าที่ถูกละทิ้ง (Abandoned Cart Recovery) และแคมเปญอีเมลแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย รวมถึงเครื่องมือสำหรับการขายข้ามพรมแดน ทำให้การค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่าย
การประมวลผลการชำระเงิน
ทุกแพ็กเกจ Shopify มาพร้อมกับผู้ให้บริการชำระเงินในตัวที่รองรับวิธีชำระเงินหลักทุกประเภท ตั้งแต่เริ่มใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับ ผู้ให้บริการชำระเงินจากภายนอกกว่า 100 ราย
ระบบเช็กเอาต์ของ Shopify สามารถปรับแต่งได้อย่างยืดหยุ่น ช่วยให้ร้านค้าสามารถเสนอตัวเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น การชำระเงินแบบเร่งด่วน (Express Checkout) การรับสินค้าหน้าร้าน (In-Store Pickup) โค้ดส่วนลดและ Shop Pay ซึ่งเป็นตัวเลือกการเช็กเอาต์ที่มีอัตราคอนเวอร์ชันดีที่สุดบนอินเทอร์เน็ต
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.4
2. Wix

Wix เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบลากและวาง (Drag-and-Drop Website Builder) ที่มาพร้อมเทมเพลตปรับแต่งได้ บริการโฮสติ้ง และการจดโดเมน แม้ว่าคุณสามารถสร้างเว็บไซต์พื้นฐานได้ฟรี แต่หากต้องการใช้ฟีเจอร์ e-Commerce จะต้องอัปเกรดเป็นแพ็กเกจแบบชำระเงิน
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
Wix ออกแบบมาเพื่อทำให้การขายออนไลน์เป็นเรื่องง่าย รองรับการรับชำระเงิน การติดตามออเดอร์ และการจัดการสต็อกสินค้าผ่านหลายช่องทาง
ดูการเปรียบเทียบระหว่าง Wix และ Shopify
แพ็กเกจและราคา
แพ็กเกจ Wix Core ซึ่งมาพร้อมฟีเจอร์ e-Commerce พื้นฐาน เริ่มต้นที่ 978 บาทต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
ฟีเจอร์ e-Commerce
Wix สามารถเชื่อมต่อกับช่องทางการขายอย่าง Facebook และ Instagram ผ่านแอปของบุคคลที่สาม เช่น Ecwid นอกจากนี้ยังมีแอปมือถือที่ช่วยให้คุณจัดการเว็บไซต์ผ่านมือถือ และยังมีระบบ POS สำหรับการขายหน้าร้าน เช่นเดียวกับ Shopify
อย่างไรก็ตาม Wix ไม่มีฟีเจอร์ e-Commerce ในตัวที่ธุรกิจที่เน้นการขายสินค้าอาจต้องการ เช่น การแจ้งเตือนสินค้าใกล้หมด และระบบจัดการสต็อกขั้นสูง หากต้องการใช้งานฟีเจอร์เหล่านี้ หรือขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย จำเป็นต้องติดตั้งแอปเสริมจากบุคคลที่สาม
ข้อดีและข้อเสีย
- โฮสต์เว็บไซต์ให้ครบในตัว
- มีแพ็กเกจฟรีสำหรับเว็บไซต์พื้นฐาน
- การติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต้องใช้แพ็กเกจแบบชำระเงิน
- ไม่มีระบบจัดการสต็อกสินค้าแบบครบวงจร
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.2
3. BigCommerce

เช่นเดียวกับ Shopify และ Wix, BigCommerce ให้บริการโฮสต์เว็บไซต์และเครื่องมือปรับแต่งร้านค้าออนไลน์ รวมถึงฟีเจอร์สำหรับการขายระหว่างประเทศ SEO และการลงสินค้าในมาร์เก็ตเพลส
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้?
BigCommerce เป็นที่นิยมในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากมีฟีเจอร์ที่รองรับธุรกิจค้าปลีกในระดับองค์กร อย่างไรก็ตาม บางผู้ใช้งานมองว่าแพลตฟอร์มนี้มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าและใช้งานได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ
ดูการเปรียบเทียบระหว่าง BigCommerce และ Shopify
แพ็กเกจและราคา
แพ็กเกจของ BigCommerce เริ่มต้นที่ 978 บาสต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
ฟีเจอร์ e-Commerce
BigCommerce รองรับการขายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Google Shopping, Facebook, เครื่องมือเปรียบเทียบราคา, Amazon และ Etsy แอปบนมือถือช่วยให้คุณสามารถดูข้อมูลวิเคราะห์และจัดการสต็อกสินค้าได้ทุกที่ อย่างไรก็ตาม บางฟีเจอร์รองรับเฉพาะระบบ Android และแพลตฟอร์มนี้ไม่มีระบบ POS ในตัว
ความต้องการแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์เสื้อผ้า Grace & Lace ตัดสินใจย้ายจาก BigCommerce ไปยัง Shopify เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบที่ออกแบบมาเพื่อผู้ขายโดยเฉพาะ
ข้อดีและข้อเสีย
- โฮสต์เว็บไซต์ให้ครบในตัว
- มีเครื่องมือบริหารจัดการสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่
- ไม่มีระบบ POS ในตัว
- ธีมบางแบบมีราคาสูง
- ผู้ขายบางรายมองว่าเครื่องมือออกแบบใช้งานยาก
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.2/5
4. Adobe Commerce (เดิมชื่อ Magento)

Adobe Commerce เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce แบบไม่รวมโฮสติ้ง ที่ออกแบบมาสำหรับนักพัฒนาและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการร้านค้าออนไลน์ที่ปรับแต่งได้เต็มรูปแบบ
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้?
Adobe Commerce เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับแต่งระบบได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มนี้มักต้องใช้นักพัฒนาในทีม เพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของระบบและดูแลเว็บไซต์ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น
แพ็กเกจและราคา
Adobe Commerce มีระบบคิดราคาตามความต้องการของธุรกิจ โดยขึ้นอยู่กับขนาดและฟีเจอร์ที่ต้องการ
ฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซ
Adobe Commerce สามารถเชื่อมต่อกับ Amazon แต่ไม่มีฟีเจอร์ในตัวสำหรับกลยุทธ์การขายแบบหลายช่องทาง เช่น โซเชียลคอมเมิร์ซหรือมาร์เก็ตเพลสที่ต้องใช้การปรับแต่งเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังไม่มีระบบรองรับธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยตรง
แพลตฟอร์มนี้ยังขาดแอปมือถือและระบบ POS ในตัว ซึ่งอาจเป็นข้อเสียสำหรับธุรกิจที่ต้องการขายผ่านหลายช่องทาง
แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Character.com เคยใช้งาน Adobe Commerce แต่พบว่าการจัดการเว็บไซต์ที่มีสินค้าหลายพันรายการและการเชื่อมต่อระบบจำนวนมากเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงย้ายไป Shopify ซึ่งช่วยให้ อัตราคอนเวิร์สชันเพิ่มขึ้น 40%
ข้อดีและข้อเสีย
- รองรับการออกแบบร้านค้าแบบปรับแต่งเอง
- ไม่รวมบริการโฮสติ้ง
- ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคเพื่อใช้งาน
- ไม่มีฟีเจอร์ e-Commerce ในตัวที่ใช้งานได้ทันที
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4/5
5. WooCommerce

WooCommerce ไม่ใช่แพลตฟอร์ม e-Commerce โดยตรง แต่เป็นปลั๊กอินแบบโอเพ่นซอร์สที่สามารถติดตั้งบน WordPress เพื่อเปลี่ยนเว็บไซต์ให้เป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีฟังก์ชันครบถ้วน
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
WooCommerce เหมาะสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับ WordPress และต้องการเพิ่มความสามารถด้าน e-Commerce ให้กับเว็บไซต์บล็อกที่มีอยู่ คุณสามารถเพิ่มรายการสินค้า ตะกร้าสินค้า และระบบเช็กเอาต์ได้อย่างง่ายดาย
ดูการเปรียบเทียบระหว่าง WooCommerce และ Shopify
แพ็กเกจและราคา
ปลั๊กอินหลักของ WooCommerce เปิดให้ใช้งานฟรี แต่ฟีเจอร์ e-Commerce เสริมและบริการโฮสติ้งเว็บไซต์อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ฟีเจอร์ e-Commerce
WooCommerce รองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายและผู้ให้บริการชำระเงิน แต่การเชื่อมต่อเหล่านี้อาจมีความซับซ้อนกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ แอปมือถือช่วยให้คุณสามารถเพิ่มสินค้า จัดการคำสั่งซื้อ และดูข้อมูลวิเคราะห์ได้
WooCommerce ยังมีระบบ POS ในตัว และสามารถขยายฟังก์ชันได้ด้วยส่วนขยายแบบชำระเงิน เช่น เทมเพลตที่ปรับแต่งได้ ระบบจัดส่ง ความปลอดภัย และฟีเจอร์อื่นๆ มีทั้งส่วนขยายจาก WooCommerce เองและจากผู้พัฒนาอื่นๆ
แม้ว่าผู้ขายบางรายจะชื่นชอบความสามารถในการเลือกฟีเจอร์ที่ต้องการ แต่โครงสร้างที่ใช้ปลั๊กอินเสริมอาจเป็นข้อเสียสำหรับบางคน การต้องจัดการปลั๊กอินและส่วนขยายจำนวนมากอาจทำให้การบริหารร้านค้าออนไลน์ยุ่งยากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนวณต้นทุนจากหลายปัจจัย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโฮสต์และดูแลเว็บไซต์ WordPress
ข้อดีและข้อเสีย
- รองรับการเชื่อมต่อมากกว่า 6,000 รายการ
- มีชุมชนผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้การสนับสนุน
- ใช้ได้กับเว็บไซต์ที่สร้างบน WordPress เท่านั้น
- ต้องจัดการโฮสติ้งด้วยตัวเอง
- ต้องบริหารค่าใช้จ่ายหลายส่วน ทั้งปลั๊กอินและค่าบริการอื่นๆ
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.4
ใช้ WordPress อยู่ใช่มั้ย? เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เว็บไซต์ของคุณด้วย Shopify Buy Button เพียงฝังปุ่มลงบนเว็บไซต์และเริ่มขายสินค้าได้ทันที ในราคาเพียง 169 บาทต่อเดือน
6. Squarespace

Squarespace เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบลากและวางที่ใช้งานง่าย มาพร้อมดีไซน์ที่ทันสมัย และสามารถเพิ่มความสามารถด้าน e-Commerce ได้เมื่ออัปเกรดเป็นแพ็กเกจระดับสูง
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
เมื่ออัปเกรดแล้ว Squarespace สามารถเปลี่ยนเว็บไซต์ของคุณให้กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ พร้อมระบบเช็กเอาต์ที่ปลอดภัย รองรับการชำระเงินผ่านหลายช่องทาง เช่น Stripe, PayPal, Apple Pay และ Afterpay
ดูการเปรียบเทียบระหว่าง Squarespace และ Shopify
แพ็กเกจและราคา
แพ็กเกจ Basic Commerce เริ่มต้นที่ 944 บาทต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
ฟีเจอร์ e-Commerce
Squarespace มีระบบติดตามและจัดการสต็อกสินค้า รองรับการพิมพ์ฉลากจัดส่ง และการขายสินค้าแบบสมัครสมาชิก หากคุณใช้งาน Squarespace อยู่แล้ว คุณสามารถเพิ่ม Shopify Buy Button ในราคาเพียง 169 บาทต่อเดือน เพื่อขายสินค้าได้ไม่จำกัดผ่านระบบเช็กเอาต์ของ Shopify
ข้อดีและข้อเสีย
- มีเทมเพลตระดับมืออาชีพ
- ไม่มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม
- ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เน้น e-Commerce โดยเฉพาะ
- รองรับการขายแบบหลายช่องทางได้จำกัด
- การปรับแต่ง CSS และ HTML ของธีมทำได้ยาก
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.4/5
7. Big Cartel

Big Cartel เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ให้บริการโฮสติ้งครบวงจร ออกแบบมาเพื่อศิลปินและนักสร้างสรรค์ มุ่งเน้นความเรียบง่ายและฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการขายออนไลน์
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้?
Big Cartel เหมาะสำหรับศิลปินและผู้สร้างสรรค์รายย่อยที่ต้องการแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและมีฟีเจอร์พื้นฐาน รองรับการขายสินค้าโดยไม่ซับซ้อน แพลตฟอร์มนี้มีแผนฟรีที่ช่วยให้คุณลงขายสินค้าได้สูงสุด 5 รายการ เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น
แพ็กเกจและราคา
เริ่มต้นใช้งานได้ฟรี โดยสามารถลงขายสินค้าได้สูงสุด 5 รายการ แพ็กเกจแบบชำระเงินเริ่มต้นที่ 404 บาทต่อเดือน
ฟีเจอร์ e-Commerce
แม้ว่าแผนฟรีของ Big Cartel จะมีฟีเจอร์ e-Commerce มากกว่าหลายแพลตฟอร์ม แต่แผนแบบชำระเงินก็ยังมีข้อจำกัด เช่น สามารถเพิ่มรูปภาพได้เพียง 5 ภาพต่อสินค้า และรองรับผู้ให้บริการชำระเงินน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนสินค้าที่คุณลงขาย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาหากธุรกิจของคุณขยายตัว
ข้อดีและข้อเสีย
- เริ่มต้นใช้งานและขายสินค้าได้ฟรี
- ออกแบบมาสำหรับศิลปินและนักสร้างสรรค์
- ตัวเลือกการปรับแต่งมีจำกัด
- ไม่มีฟีเจอร์ e-Commerce ขั้นสูง
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อสินค้ามีจำนวนมากขึ้น
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.2/5
8. Square Online

Square Online (เดิมชื่อ Weebly) เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โดยเน้นการใช้งานร่วมกับระบบชำระเงินของ Square ทำให้สามารถเชื่อมโยงการขายทั้งออนไลน์และหน้าร้านได้อย่างราบรื่น
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้?
Square Online เหมาะสำหรับผู้ค้าที่ใช้ Square ในการรับชำระเงินที่ร้านค้าอยู่แล้ว และต้องการขยายธุรกิจสู่ออนไลน์โดยไม่ยุ่งยาก การผสานรวมกับระบบชำระเงินของ Square ทำให้การจัดการยอดขายจากช่องทางต่างๆ เป็นเรื่องง่าย
ดูการเปรียบเทียบระหว่าง Square Online และ Shopify
แพ็กเกจและราคา
มีตัวเลือกใช้งานฟรี แพ็กเกจแบบชำระเงินเริ่มต้นที่ 978 บาทต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
ฟีเจอร์ e-Commerce
คุณสามารถเริ่มสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ฟรีกับ Square Online แต่หากต้องการใช้โดเมนของตัวเองหรือลบโฆษณาในระบบ จะต้องอัปเกรดเป็นแพ็กเกจแบบชำระเงิน นอกจากนี้ การเชื่อมต่อช่องทางการขายเพิ่มเติมและการใช้ฟีเจอร์ขั้นสูงอาจทำได้ยากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
ข้อดีและข้อเสีย
- ดีไซน์ร้านค้าเน้นการใช้งานผ่านมือถือ
- มีเวอร์ชันฟรีที่รองรับฟีเจอร์พื้นฐาน
- ไม่มีฟีเจอร์ e-Commerce ขั้นสูง
- ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ Square Payments เป็นหลัก
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.2/5
9. Shift4Shop

Shift4Shop เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คุณสร้างร้านค้าออนไลน์ได้ง่าย มาพร้อมระบบติดตั้งที่ไม่ซับซ้อนและดีไซน์ที่รองรับการใช้งานบนมือถือ
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
แม้ว่า Shift4Shop จะไม่ได้อัดแน่นไปด้วยฟีเจอร์ขั้นสูง แต่ใช้งานได้ง่ายและเหมาะสำหรับผู้ที่เน้นการขายผ่านมือถือ แพลตฟอร์มนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ผ่าน API ทำให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้ที่ต้องการฟังก์ชันพื้นฐานในการขายสินค้าออนไลน์
แพ็กเกจและราคา
แพ็กเกจแบบชำระเงินเริ่มต้นที่ 978 บาทต่อเดือน หากคุณมียอดขาย 16,850 บาทต่อเดือน ผ่าน Shift4Shop Payment Gateway จะสามารถใช้แพลตฟอร์มได้ฟรี แต่หากมียอดขายต่ำกว่านี้ หรือเลือกใช้ระบบชำระเงินอื่น เช่น PayPal แพลตฟอร์มจะคิดค่าบริการตามปกติ
ฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซ
Shift4Shop รองรับการขายผ่าน eBay, Amazon และ Facebook อย่างไรก็ตาม ไม่มีแอปมือถือ สำหรับจัดการร้านค้า และระบบ POS จำเป็นต้องซื้อแยกต่างหาก
ข้อดีและข้อเสีย
- ระบบตะกร้าสินค้าครอบคลุมทุกฟังก์ชันพื้นฐาน
- ใช้งานฟรีสำหรับผู้ใช้ที่ขายผ่าน Shift4Shop Checkout
- ปรับแต่งร้านค้าได้ยากกว่า Shopify
- ไม่มีฟีเจอร์ e-Commerce ขั้นสูง
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 3.9/5
10. Volusion

Volusion เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 โดยออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถทำหน้าสินค้าบนร้านออนไลน์ได้ง่าย ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อน
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce นี้?
Volusion ช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการชำระเงินกว่า 30 ราย และมาพร้อมเครื่องมือพื้นฐานที่ช่วยให้การสร้างร้านค้าออนไลน์เป็นเรื่องง่าย โดยไม่มีฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น
แพ็กเกจและราคา
แพ็กเกจเริ่มต้นที่ 1,183 บาทต่อเดือน (เมื่อชำระแบบรายปี)
ฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซ
Volusion เหมาะสำหรับการขายสินค้าที่จับต้องได้ แต่ไม่รองรับการขายสินค้าดิจิทัล เช่น eBook หรือเพลง หากต้องการขายสินค้าประเภทนี้ จำเป็นต้องเลือกแพลตฟอร์มอื่น นอกจากนี้ Volusion ไม่มีแอปมือถือ ช่องทางการขายแบบบูรณาการ หรือระบบ POS ในตัว
ข้อดีและข้อเสีย
- มีบริการสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง
- เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ใช้งานง่าย
- แพ็กเกจเริ่มต้นยังมีข้อจำกัดของฟีเจอร์และมีราคาสูง
- แพลตฟอร์มจำกัดยอดขายและจำนวนสินค้าที่สามารถลงขายได้
- ไม่มีใบรับรอง SSL ฟรี
- ไม่รองรับการขายสินค้าดิจิทัล
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 3.2/5
11. OpenCart
OpenCart เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโอเพ่นซอร์สที่เปิดให้ใช้งานฟรีและติดตั้งได้ง่าย
ทำไมต้องเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้?
OpenCart ช่วยให้คุณสามารถสร้างและจัดการร้านค้าได้หลายแห่งจากบัญชีเดียว ผ่านแดชบอร์ดที่แสดงข้อมูลสำคัญ เช่น ยอดขายและลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ
แพ็กเกจและราคา
ใช้งานได้ฟรี แต่ต้องมีบริการโฮสติ้งและการบำรุงรักษาเว็บไซต์เพิ่มเติม
ฟีเจอร์ e-Commerce
OpenCart มีโมดูลและธีมฟรีกว่า 13,000 รายการ ที่ช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ตามต้องการ นอกจากนี้ ยังรองรับ การเชื่อมต่อกับเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย
ข้อดีและข้อเสีย
- ฟรีและเป็นโอเพ่นซอร์ส
- มีฟีเจอร์ด้านการตลาดและการขายที่จำกัด
- ต้องจัดการโฮสติ้งด้วยตัวเอง
คะแนนรีวิวจาก G2 ⭐: 4.3/5
เช็กลิสต์วิธีเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุด
หากคุณกำลังเริ่มต้นธุรกิจและพร้อมเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce การมีเช็กลิสต์ฟีเจอร์ที่จำเป็นจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แพลตฟอร์มที่ดีที่สุดสำหรับคุณอาจไม่ใช่ตัวเลือกเดียวกับผู้ขายรายอื่น เพราะทุกธุรกิจมีเป้าหมายและความต้องการที่แตกต่างกัน
เมื่อสร้างเช็กลิสต์ ลองพิจารณาว่าธุรกิจของคุณจะได้รับประโยชน์จากฟีเจอร์เหล่านี้หรือไม่
- ระบบเช็กเอาต์และช่องทางชำระเงินปลอดภัยและเชื่อถือได้
- ตัวเลือกการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- ระบบ AI ช่วยจัดการร้านค้า
- สภาพแวดล้อมโฮสติ้งที่เหมาะสม
- การจัดการสต็อกสินค้าและระบบขนส่ง
- เครื่องมือการตลาดและการขยายฐานลูกค้า
- ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย
- โปรแกรมจัดการธุรกิจและการเงิน
- การสนับสนุนและบริการลูกค้า
ระบบเช็กเอาต์และช่องทางชำระเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
ระบบเช็กเอาต์เป็นองค์ประกอบสำคัญของร้านค้าออนไลน์ คุณต้องมีช่องทางรับชำระเงินที่ปลอดภัยและเสถียร พร้อมทั้งมอบประสบการณ์ที่รวดเร็วและไม่ยุ่งยากให้กับลูกค้า
ตัวอย่างเช่น Shop Pay สามารถเพิ่มความเร็วในการเช็กเอาต์ได้ถึง 4 เท่า นอกจากนี้ Shopify ยังรองรับการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการชำระเงินกว่า 100 ราย ทำให้สามารถเสนอวิธีการชำระเงินที่เหมาะสมกับลูกค้าของคุณได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในโลก
นอกจากนี้ การสร้างความไว้วางใจในขั้นตอนการชำระเงินเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรรองรับวิธีการชำระเงินที่คุ้นเคย เช่น Mobile Wallets และ PayPal ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการให้ข้อมูลบัตรเครดิต และทำให้กระบวนการเช็กเอาต์เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
ตัวเลือกการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์
แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีควรสามารถเชื่อมโยงช่องทางการขายออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งหมายถึงการมีระบบ Point-of-Sale (POS) ที่สามารถซิงค์ข้อมูลกับร้านค้าออนไลน์ของคุณได้
นอกจากนี้ ควรพิจารณาประเภทของ อุปกรณ์ POS ที่สามารถใช้งานได้ แพลตฟอร์มมีฮาร์ดแวร์ POS ของตัวเองหรือคุณต้องใช้ระบบจากผู้ให้บริการภายนอก? มีตัวเลือกที่สะดวกสำหรับการรับชำระเงินในร้านค้าอีเวนต์ชั่วคราว (Pop-up), ร้านค้าตลาดนัด หรือผ่านมือถือหรือไม่?
ระบบ AI ช่วยจัดการร้านค้า
AI กำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานของแพลตฟอร์ม e-Commerce ทำให้ระบบฉลาดขึ้นและตอบสนองต่อทั้งเจ้าของร้านและลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Shopify Magic ซึ่งเป็น AI ในตัวของ Shopify สามารถสร้างคำบรรยายสินค้าอัตโนมัติ แก้ไขภาพสินค้า และปรับแต่งเนื้อหาเว็บไซต์ ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างง่ายดาย
แพลตฟอร์ม e-Commerce หลายแห่งยังใช้ AI ในระบบบริการลูกค้า เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำแนะนำที่แม่นยำ นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนร้านค้า เช่น สร้างข้อความตอบกลับลูกค้าแบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับผู้ขาย Shopify ยังมี Sidekick AI (อยู่ในช่วง Early Access) ซึ่งให้การสนับสนุนแบบเรียลไทม์ในการจัดการร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น การตั้งค่าการจัดส่ง การติดตามสต็อกสินค้า หรือการวิเคราะห์ยอดขาย Sidekick สามารถช่วยคุณดูข้อมูลยอดขายของเดือนที่ผ่านมา หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์การโปรโมตแบรนด์ของคุณได้แบบอัตโนมัติ
สภาพแวดล้อมโฮสติ้งที่เหมาะสม
ผู้ให้บริการโฮสติ้งมีผลต่อค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของเว็บไซต์ e-Commerce ของคุณ การเลือกโฮสติ้งที่เชื่อถือได้ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณออนไลน์ตลอดเวลา โหลดได้รวดเร็ว และปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
แพลตฟอร์ม e-Commerce บางแห่ง เช่น Shopify มีบริการโฮสติ้งในตัว ช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการดูแลเซิร์ฟเวอร์หรือปัญหาด้านความปลอดภัย ในทางกลับกัน การโฮสต์เว็บไซต์ด้วยตัวเอง (Self-hosting) เปิดโอกาสให้คุณควบคุมและปรับแต่งระบบได้มากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เช่น ปัญหาด้านความปลอดภัย การอัปเดตซอฟต์แวร์ และการจัดการทางเทคนิคที่ซับซ้อน ซึ่งอาจต้องอาศัยทีมไอทีหรือความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม
การจัดการสต็อกสินค้าและระบบขนส่ง
หากคุณต้องการขายสินค้าอย่างจริงจัง ควรเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ช่วยให้คุณติดตามระดับสต็อกสินค้า จัดการคำสั่งซื้อ และทำให้กระบวนการจัดส่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ
แพลตฟอร์มที่ดีควรมีตัวเลือกการจัดส่งที่ครอบคลุม สามารถเชื่อมต่อกับบริการขนส่ง รองรับตัวเลือกการจัดส่งที่หลากหลายให้ลูกค้า และจัดการกระบวนการคืนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องมือการตลาดและการขยายฐานลูกค้า
เครื่องมือด้าน SEO การตลาดผ่านอีเมล การเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย และระบบรีวิวจากลูกค้าจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในธุรกิจประเภทใด การโปรโมตร้านค้าออนไลน์และสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ การเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เหมาะสมควรมีฟีเจอร์ขั้นสูง เช่น โปรแกรมสะสมแต้ม ข้อเสนอแนะนำเฉพาะบุคคล และระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและรักษาลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ของคุณในระยะยาว
ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย
ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญในการทำ e-Commerce แพลตฟอร์มที่คุณเลือกควรมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องธุรกิจและข้อมูลลูกค้า ซึ่งรวมถึง SSL certificates เพื่อเข้ารหัสข้อมูล การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication) และการปฏิบัติตามมาตรฐาน PCI DSS เพื่อให้การประมวลผลการชำระเงินมีความปลอดภัย
โปรแกรมจัดการธุรกิจและการเงิน
แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีควรมีฟีเจอร์ช่วยจัดการธุรกิจและการเงิน เช่น ระบบรายงานและวิเคราะห์ยอดขาย การคำนวณภาษีการขาย และการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์บัญชี เพื่อให้คุณสามารถติดตามกระแสเงินสดและบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสนับสนุนและบริการลูกค้า
การสนับสนุนลูกค้าเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ควรเลือกแพลตฟอร์มที่ให้บริการสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมงผ่านหลายช่องทาง เช่น การสนับสนุนทางโทรศัพท์ อีเมล และไลฟ์แชต เช่นเดียวกับ Shopify
นอกจากนี้ ทรัพยากรช่วยเหลือตนเอง เช่น บทเรียนออนไลน์และบทความในฐานความรู้ ก็มีประโยชน์สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว
การเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ตามความต้องการทางธุรกิจ
นอกจากฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มแล้ว ควรพิจารณาถึงความต้องการของธุรกิจของคุณเองด้วย โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น
การบริหารต้นทุน
แม้ว่าต้นทุนไม่ควรเป็นปัจจัยเดียวในการตัดสินใจ แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจส่วนใหญ่มักใช้เงินลงทุนหลายพันดอลลาร์ในปีแรก งานวิจัยของ Shopify ระบุว่าต้นทุนโดยทั่วไปมีการกระจายไปในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้วยค่าใช้จ่ายหลายด้านที่ต้องจัดการในการดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ไม่ทำให้ต้นทุนของคุณบานปลาย แต่ยังคงมีฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานและสร้างกำไร
เมื่อพิจารณาต้นทุน อย่ามองแค่ค่าธรรมเนียมการติดตั้งและค่าบริการรายเดือนเท่านั้น ควรคำนึงถึง ค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชำระเงิน ค่าบริการสำหรับการเชื่อมต่อแอปพลิเคชันของบุคคลที่สาม และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหากแพลตฟอร์มไม่รวมบริการโฮสติ้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนรวมของคุณในระยะยาว
เลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของคุณ
การขายสินค้าออนไลน์มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะขายสินค้าที่จับต้องได้ สินค้าดิจิทัล หรือใช้โมเดลธุรกิจแบบดรอปชิปปิ้ง การเลือกแพลตฟอร์มที่รองรับรูปแบบการขายของคุณเป็นสิ่งสำคัญ
หากคุณทำดรอปชิปปิ้ง ควรมองหาแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับซัพพลายเออร์ได้ง่าย เพื่อให้กระบวนการจัดการคำสั่งซื้อเป็นไปอย่างราบรื่น
แพลตฟอร์มอย่าง Shopify มีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยให้การขายง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะใช้โมเดลธุรกิจแบบพิมพ์ตามคำสั่ง (Print-on-Demand) การขายแบบสมัครสมาชิก (Subscription-Based) หรือโมเดลอื่นๆ Shopify รองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่นกว่าหลายแพลตฟอร์ม e-Commerce อื่นๆ
B2C vs B2B แพลตฟอร์ม e-Commerce
การทำความเข้าใจว่าธุรกิจของคุณเน้นให้บริการแก่ผู้บริโภค (B2C) หรือธุรกิจอื่นๆ (B2B) มีผลอย่างมากต่อการเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เหมาะสม
แพลตฟอร์ม B2C ควรมีความรวดเร็ว ใช้งานง่าย และรองรับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ราบรื่น ฟีเจอร์สำคัญ ได้แก่ ดีไซน์ที่รองรับมือถือ ระบบเช็กเอาต์ที่รวดเร็ว และเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
แพลตฟอร์ม B2B ต้องรองรับการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน เช่น การสั่งซื้อจำนวนมาก ราคาตามการเจรจา ระบบกำหนดราคาตามปริมาณ แคตตาล็อกสินค้าเฉพาะลูกค้า และการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า แพลตฟอร์มที่เหมาะสมควรมีเครื่องมือช่วยให้การบริหารคำสั่งซื้อและเงื่อนไขทางธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พิจารณาแผนธุรกิจในอนาคต
แม้ว่าธุรกิจของคุณอาจเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ แม้คุณอาจไม่ตั้งเป้าไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่ควรเลือกแพลตฟอร์มที่สามารถเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของคุณได้
หากคุณต้องการขยายไปสู่การขายหน้าร้านจริงในอนาคต แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ไม่มีระบบเชื่อมต่อ POS ที่ดีอาจทำให้การซิงค์ข้อมูลสินค้าคงคลังระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ยุ่งยาก และอาจทำให้ข้อมูลสต็อกคลาดเคลื่อน
แพลตฟอร์มอย่าง Shopify สามารถติดตามและซิงค์ข้อมูลทุกอย่างไว้ในที่เดียว ทำให้คุณมีข้อมูลสินค้าคงคลังและยอดขายที่แม่นยำตลอดเวลา พร้อมรองรับการขายหน้าร้านได้ในไม่กี่นาที นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มบริการเสริม เช่น การจัดส่งในพื้นที่ และใช้เครือข่ายการจัดส่งของ Shopify เพื่อช่วยบริหารการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ ในระยะยาว จากการวิเคราะห์ของ Shopify พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการใช้เงินออมส่วนตัว เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ ขณะที่ 23% กู้ยืมจากเพื่อนและครอบครัว และ 21% ใช้สินเชื่อส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม การหาเงินทุนจากช่องทางอื่นที่ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า บางแพลตฟอร์ม e-Commerce มีโปรแกรมสนับสนุนทางการเงิน เช่น Shopify Capital ที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นสำหรับการขยายธุรกิจ
ประเภทของแพลตฟอร์ม e-Commerce
หากต้องการให้ร้านค้าออนไลน์ของคุณเข้าถึงลูกค้าได้ จำเป็นต้องมีโฮสติ้ง ซึ่งเป็นบริการจัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์บนเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและดูเนื้อหาได้ทางอินเทอร์เน็ต
ทุกเว็บไซต์ต้องมีผู้ให้บริการโฮสติ้ง ซึ่งหมายถึงการมีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์จากผู้ให้บริการบางราย แพลตฟอร์ม e-Commerce บางแห่งมีบริการโฮสติ้งในตัว ขณะที่บางแพลตฟอร์มต้องใช้ การโฮสต์ด้วยตัวเอง (Self-hosting) หรือโฮสติ้งแบบโอเพ่นซอร์ส ที่ต้องจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์เอง
แพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโฮสต์ (Cloud)
แพลตฟอร์ม e-Commerce บางแห่งเป็นระบบโฮสต์ในตัว (Hosted Platforms) ซึ่งหมายความว่าคุณไม่ต้องตั้งค่าโฮสติ้งเองหรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น Shopify ที่ให้บริการโฮสติ้งรวมอยู่ในทุกแพ็กเกจ
การสร้างร้านค้าบนแพลตฟอร์มแบบโฮสต์ช่วยให้คุณมีอิสระในการโฟกัสที่การดำเนินธุรกิจแทนที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาเซิร์ฟเวอร์ การหยุดทำงาน หรือการแก้ไขบั๊ก ระบบของ Shopify ยังอัปเดตโดยอัตโนมัติ ทำให้ร้านค้าของคุณได้รับฟีเจอร์ใหม่ๆ และการปรับปรุงด้านความปลอดภัยอยู่เสมอโดยไม่ต้องจัดการเอง
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่โฮสต์เอง
แพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโฮสต์เองหรือแบบไม่มีโฮสติ้งในตัว (Self-Hosted / Non-Hosted Platforms) ต้องอาศัยพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ของตัวเองหรือเช่าพื้นที่จากผู้ให้บริการโฮสติ้ง ซึ่งทำให้การบริหารเว็บไซต์ซับซ้อนขึ้น เนื่องจากคุณต้องดูแลการอัปเดต ระบบบำรุงรักษา และการแก้ไขบั๊กด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังต้องใช้ทรัพยากรภายในองค์กรเพิ่มขึ้น
แพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโฮสต์เองมักเป็นโอเพ่นซอร์ส โดยที่ผู้ใช้ต้องหาโฮสต์ภายนอกสำหรับจัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์ ผู้ให้บริการโฮสติ้งเหล่านี้มักคิดค่าบริการตามแพ็กเกจ ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติม
โฮสติ้งจากบุคคลที่สามส่วนใหญ่มักใช้ระบบคิดค่าบริการแบบเป็นขั้น (Tiered Pricing) ทำให้ผู้ใช้แพ็กเกจระดับล่างได้รับการสนับสนุนลูกค้าน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อยอดขาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์สูง เช่น เมื่อได้รับความสนใจจากข่าวหรือกระแสไวรัล แต่ไม่สามารถรับมือกับปริมาณทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้นได้
ข้อดีของแพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโฮสต์เอง vs. แบบคลาวด์โฮสต์
แพลตฟอร์ม e-Commerce แบบโฮสต์เอง (Self-Hosted) มอบความสามารถในการปรับแต่งและควบคุมระบบได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคุณเป็นผู้จัดการโฮสติ้งของเว็บไซต์เอง คุณสามารถเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ ปรับแต่งโค้ด และออกแบบระบบร้านค้าออนไลน์ให้ตรงกับความต้องการได้อย่างอิสระ
อย่างไรก็ตาม การโฮสต์เว็บไซต์เองมาพร้อมกับความรับผิดชอบด้านการจัดการเซิร์ฟเวอร์ คุณต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า อัปเดตระบบ และแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มแบบคลาวด์โฮสต์ (Cloud-Hosted) จะช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้โดยอัตโนมัติ ระบบความปลอดภัยในตัวและการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องทำให้ร้านค้าออนไลน์ของคุณทำงานบนเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ รวมถึงได้รับการป้องกันจากภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยอัตโนมัติ
เริ่มขายออนไลน์กับ Shopify
เมื่อต้องเลือกแพลตฟอร์ม e-Commerce สิ่งสำคัญไม่ใช่การหาแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดในภาพรวม แต่เป็นการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจคุณ และช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ที่ราบรื่น
นอกจากตัวสร้างร้านค้าแล้ว ควรพิจารณาเครื่องมือเสริมทางธุรกิจที่แพลตฟอร์มมีให้ ระบบที่ทำงานร่วมกันได้ดี ตั้งแต่ร้านค้าออนไลน์ ผู้ให้บริการชำระเงิน POS ไปจนถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ จะช่วยให้การบริหารงานง่ายขึ้น Shopify เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ให้บริการเครื่องมือครบวงจร ที่รองรับการเติบโตของธุรกิจคุณ ไม่ว่าคุณจะขยายกิจการไปในทิศทางใด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม e-Commerce
แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุด คืออะไร?
- Shopify
- WooCommerce
- Wix
- Squarespace
Amazon ถือเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือไม่?
Amazon ไม่ใช่แพลตฟอร์ม e-Commerce แต่เป็นมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปและธุรกิจสามารถขายสินค้าในหลายประเทศและหลายภาษา บน Amazon คุณเป็นผู้ขายในตลาดกลาง ขณะที่แพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น Shopify ให้เครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์และร้านค้าปลีก ช่วยให้คุณควบคุมแบรนด์และจัดการสต็อกสินค้าได้อย่างเต็มที่ ผู้ใช้ Shopify ยังสามารถลิสต์สินค้าบน Amazon เพื่อเพิ่มช่องทางการขายได้อีกด้วย
แพลตฟอร์ม e-Commerce ใดเหมาะกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น?
Shopify เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพ เนื่องจากใช้งานง่าย ราคาสมเหตุสมผล และโปรแกรมมือ AI ที่ช่วยให้การบริหารร้านค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ Shopify มีเทมเพลตปรับแต่งได้ ระบบรับชำระเงินที่ปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันยอดนิยม นอกจากนี้ยังมีอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย รวมถึงรองรับการสนับสนุนลูกค้าที่ยอดเยี่ยม