เมื่อคุณทำร้านค้าออนไลน์ การติดตามผลการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อดูว่าธุรกิจเป็นอย่างไร และเมตริกอีคอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
เมตริกอีคอมเมิร์ซ คือการวัดผลที่สามารถคำนวณได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ลูกค้าสั่งซื้อของในแต่ละครั้งมากน้อยแค่ไหน ความถี่ที่ผู้เข้าชมเว็บของคุณสั่งซื้อ หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหาลูกค้าใหม่
มีเมตริกอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPIs) หลายอย่างที่ช่วยทำให้คุณมองเห็นโอกาสของความสำเร็จได้อย่างชัดเจน เราจะพาคุณไปพบกับ 20 คีย์เมตริกที่ร้านค้าอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องติดตาม พร้อมแชร์วิธีการค้นหาตัวชี้วัดเหล่านี้ ไปดูพร้อมกัน
เมตริกอีคอมเมิร์ซและ KPIs คืออะไร?
เมตริกอีคอมเมิร์ซและ KPIs เป็นข้อมูลและการวิเคราะห์ที่สำคัญในการประเมินความสำเร็จโดยรวมของธุรกิจ เช่น มีลูกค้าเข้ามากี่คน? ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำบ่อยแค่ไหน? มีคนทิ้งสินค้าในรถเข็นหรือไม่?
คุณสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ได้โดยการติดตาม KPIs อีคอมเมิร์ซพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละธุรกิจอาจให้ความสำคัญที่แตกต่างกันในแต่ละเมตริก แต่ 20 เมตริกที่คุณกำลังจะได้เห็นต่อไปนี้คือตัวชี้วัดสำคัญที่แบรนด์อีคอมเมิร์ซควรติดตาม
เมตริกธุรกิจช่วยให้คุณประเมินสินค้ายอดที่นิยม ความถี่ในการซื้อ รวมถึงช่วยระบุปัญหาในกระบวนการชำระเงินที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสั่งซื้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย
💡 เคล็ดลับ: ลองใช้รายงานและการวิเคราะห์จาก Shopify เพื่อช่วยคุณตัดสินใจ เลือกจากแดชบอร์ดและรายงานที่สร้างไว้ล่วงหน้ากว่า 60 รายการ หรือปรับแต่งรายงานให้เป็นแบบของคุณเอง เพื่อค้นหาทิศทาง แนวโน้ม และโอกาสในการพัฒนา
20 คีย์เมตริกอีคอมเมิร์ซที่ควรติดตาม
- อัตราคอนเวอร์ชัน
- มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย
- มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า
- ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้า
- อัตราการละทิ้งรถเข็น
- อัตราลูกค้าซื้อซ้ำ
- ค่า Bounce Rate
- อิมเพรสชั่น
- ยอด Reach
- ค่า Engagement
- ค่าเอ็นพีเอส
- อัตราการคลิกผ่าน (CTR)
- เซสชันร้าน ตามแหล่งที่มาของการเข้าชม
- เซสชันร้าน ตามประเภทอุปกรณ์
- เซสชันร้าน ตามสถานที่
- สินค้ายอดนิยมตามจำนวนที่ขายได้
- ภาพรวมสินค้าคงคลังสิ้นเดือน
- สินค้าคงคลังเฉลี่ยที่ขายต่อวัน
- อัตราการคืนสินค้าและการคืนเงิน
- อัตราการเลิกใช้บริการ
หลังจากที่คุณเห็นประโยชน์ของการเข้าใจเมตริกอีคอมเมิร์ซอย่างครบถ้วนแล้ว คุณอาจสงสัยว่าคุณจะค้นหาตัวเลขชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องดีของเจ้าของร้าน Shopify เพราะคุณมีแดชบอร์ดที่รวมเมตริกที่สำคัญเหล่านี้ให้กับคุณ
แม้คุณจะไม่ใช่เจ้าของร้าน Shopify แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของคุณเอง หรืออย่างน้อยที่สุด Google Analytics ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้คุณค้นหาตัวเลขชี้วัดเหล่านี้ได้
1. อัตราคอนเวอร์ชัน
ในขณะที่เราไม่ได้จัดอันดับเมตริกเหล่านี้ในลำดับใด ๆ อัตราคอนเวอร์ชันถือเป็นหนึ่งในเมตริกที่สำคัญที่สุดที่ควรให้ความสนใจ
อัตราคอนเวอร์ชัน (CVR) คือจำนวนคนที่ทำการซื้อ จากจำนวนคนทั้งหมดที่เข้าถึงเว็บไซต์ของคุณ
สูตรคำนวณมีดังนี้
CVR = (# ของการซื้อ / # ของเซสชัน) x 100
การคูณด้วย 100 ที่ท้ายสูตร ช่วยให้คุณหาค่าร้อยละที่แท้จริง แต่เพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น คุณสามารถดูอัตราคอนเวอร์ชันของร้านค้าออนไลน์ได้โดยตรงบนแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify
Shopify ยังแสดงยอดคอนเวอร์ชันทั้งหมดให้กับผู้ใช้ เนื่องจากบางครั้งลูกค้าจะเริ่มช็อปปิ้งแล้วลืม หรือเลือกที่จะไม่ทำการซื้อจริง ๆ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่กดหยิบของลงในรถเข็นมักจะมากกว่าผู้ที่คลิกไปที่ Checkout และเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไปถึงหน้าชำระเงิน มักจะมากกว่าผู้ที่ทำการซื้อจริง
การมีมุมมองที่ครบถ้วนเกี่ยวกับ Funnel การขาย ของคุณสามารถช่วยให้คุณระบุได้ว่ากระบวนการชำระเงินของคุณมีปัญหาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีลูกค้าคิดเป็น 25% ของคนที่หยิบของลงรถเข็น แต่มีเพียง 1% ถึง 2% ที่คอนเวอร์ชันเป็นการซื้อ อาจเป็นไปได้ว่ามีอุปสรรคในการชำระเงิน เช่น ความซับซ้อน หรือแม้แต่ข้อผิดพลาดอื่นๆ
อัตราคอนเวอร์ชันควรคงที่ หรืออย่างน้อยก็เพิ่มขึ้นตามเวลา หากคุณเห็นการลดลงอย่างมาก อาจถึงเวลาที่คุณต้องตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของคุณยังทำงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่
อ่านเพิ่มเติม: การเพิ่มประสิทธิภาพอัตราคอนเวอร์ชัน (CRO) คืออะไร? พร้อมวิธีเริ่ม
2. มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย
มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV) บอกคุณเกี่ยวกับจำนวนเงินเฉลี่ยที่ลูกค้าใช้จ่ายในครั้งเดียวที่ร้านค้าออนไลน์ของคุณ
โดยในการคำนวณ ให้ใช้สูตรนี้
AOV = รายได้รวม / จำนวนคำสั่งซื้อทั้งหมด
AOV ของคุณเป็นเมตริกที่ยอดเยี่ยมในการติดตาม เพราะมันช่วยให้คุณประเมินรายได้และตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงสำหรับลูกค้าใหม่
ตัวอย่างเช่น หากมูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยของคุณคือ 1,500 บาท และคุณต้องการสร้างรายได้ 350,000 บาทในเดือนนั้น คุณรู้ว่าคุณต้องนำลูกค้าเข้ามาอย่างน้อย 222 คนในช่วงเวลานั้น
3. มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า
มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLV หรือ CLTV) คือรายได้รวมที่ธุรกิจของคุณคาดว่าจะได้รับจากลูกค้าคนเดียวตลอดช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นลูกค้าของคุณ (หรืออย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นลูกค้าของคุณ)
ในการคำนวณ CLV ให้ใช้สูตรนี้
CLV = มูลค่าเฉลี่ยของการซื้อ x จำนวนครั้งที่ลูกค้าจะซื้อในแต่ละปี x ระยะเวลาของความสัมพันธ์กับลูกค้า (ต่อปี)
สมมติว่าเปิดร้านขายเทียน หากจำนวนเทียนราคา 600 บาทที่ลูกค้ามักซื้อในหนึ่งปีคือ 15 และพวกเขาซื้อจากธุรกิจของคุณเป็นเวลา 10 ปี คุณจะคูณ 600 x 15 x 10 เพื่อให้ได้ CLV ที่ 90,000 บาท
นี่ไม่ใช่เมตริกที่แสดงในแดชบอร์ด Shopify ของคุณ เพราะต้องการการวิเคราะห์จากเจ้าของร้าน แต่ก็ให้ข้อมูลที่สำคัญมาก
ตัวอย่างเช่น การรู้ว่าลูกค้าคนหนึ่งมีมูลค่าเท่าไหร่สำหรับธุรกิจช่วยให้คุณกำหนดได้ว่าสามารถใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้าใหม่ได้มากแค่ไหนและยังคงมีกำไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบุได้ว่าสินค้าใดมีมูลค่าสูงสุดต่อผลกำไร เช่น สินค้าใดที่มีราคาสูงและเป็นที่นิยม และสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อให้มีคนซื้อสินค้านั้นมากขึ้นได้อย่างไร
4. ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้า
ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้า (CAC) บอกคุณว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดึงดูดลูกค้าใหม่คือเท่าไหร่ นี่เป็นอีกหนึ่งเมตริกที่ต้องคำนวณเองตามงบประมาณการตลาดที่คุณจัดสรรเพื่อดึงดูดลูกค้า
สูตรสำหรับค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้าคือ
CAC = จำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการตลาด / จำนวนลูกค้าใหม่
ดังนั้น หากใช้จ่าย 30,000 บาทในการโฆษณาในเดือนหนึ่งและดึงดูดลูกค้าใหม่ได้ 100 คน ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้าของคุณจะอยู่ที่ 300 บาทต่อคน
ตรวจสอบเมตริกนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่เกิน CLV หรือแม้แต่เบียดงบมากเกินไปจนคุณรู้สึกไม่สบายใจ
หาก CLV ของคุณคือ 30,000 บาทและคุณใช้จ่ายหลายพันบาทเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่เพียงคนเดียว ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้าจะทำให้กำไรของคุณลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณจะต้องประเมินกลยุทธ์การดึงดูดลูกค้าใหม่ เพื่อดูว่าสามารถเพิ่มผลลัพธ์ ในขณะที่ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร
5. อัตราการละทิ้งรถเข็น
ไม่ว่าคุณจะมีอัตราคอนเวอร์ชันสูงเพียงใด หรือผลิตภัณฑ์ของคุณจะเป็นที่ต้องการเพียงใด ยังคงมีผู้บริโภคบางคนที่ไม่ทำการซื้อให้เสร็จสิ้น นี่เรียกว่าอัตราการละทิ้งรถเข็น มันคือการที่ลูกค้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ลงในรถเข็น แต่ไม่ทำการชำระเงินให้เสร็จสิ้น และทิ้งสินค้าเหล่านั้นไว้
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในอีคอมเมิร์ซ แต่คุณยังต้องติดตามอัตราการละทิ้งรถเข็นโดยรวมของคุณ เพราะมันสามารถบอกคุณถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการชำระเงิน
ในการคำนวณอัตราการละทิ้งรถเข็นของคุณ ให้ใช้สูตรนี้
อัตราการละทิ้งรถเข็น = (# ของการซื้อที่เสร็จสิ้น / # ของรถเข็นที่สร้างขึ้น) x 100
อย่ากังวลหากคุณมีอัตราการละทิ้งรถเข็นสูง อย่างไรก็ตาม หากอัตราอยู่ระหว่าง 95% ถึง 100% ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะอาจมีข้อผิดพลาดในกระบวนการชำระเงินที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถทำการซื้อได้
6. อัตราลูกค้าซื้อซ้ำ
อัตราการกลับมาของลูกค้า ซึ่งบางครั้งเรียกว่าอัตราลูกค้าซื้อซ้ำ คือจำนวนลูกค้าที่ทำการซื้อมากกว่าหนึ่งครั้งจากร้านค้าของคุณ
หากอัตรานี้สูง แสดงว่าคุณควรลงทุนทรัพยากรในการขยายฐานลูกค้า แต่หากต่ำ คุณอาจต้องลองทำโฆษณาเพื่อดึงดูดลูกค้าเก่ากลับมา
ในขณะที่คุณสามารถหาข้อมูลนี้ได้ในแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify คุณยังสามารถใช้สูตรดังต่อไปนี้
อัตราลูกค้ากลับมา = (# ของลูกค้ากลับมา / จำนวนลูกค้าทั้งหมด) x 100
การได้รับการซื้อซ้ำแสดงว่าคุณทำได้ดีมาก ดังนั้นหากคุณประสบปัญหาในการปรับปรุงอัตราลูกค้ากลับมา คุณอาจต้องตรวจสอบประสบการณ์ของลูกค้าโดยรวมเพื่อดูว่ามีสิ่งใดที่คุณสามารถปรับปรุงได้
7. ค่า Bounce Rate
อัตราการตีกลับ (หรือค่า Bounce Rate) เป็นเมตริกที่ทุกคนที่มีเว็บไซต์ประเภทใด ๆ ต้องให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ค่า Bounce Rate บอกคุณถึงจำนวนคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ แล้วออกไปโดยไม่ทำการกระทำใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคลิกไปยังหน้าอื่น การกรอกแบบฟอร์ม การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
คุณสามารถดูค่า Bounce Rate ของคุณได้ใน Google Analytics ในแดชบอร์ด GA4 ของคุณ ให้เลือก รายงาน จากนั้นเลือกการรายงานที่คุณต้องการปรับแต่งและเพิ่ม "ค่า Bounce Rate" เป็นเมตริก
ในการลดอัตราการตีกลับ เว็บไซต์ต้องใช้งานง่ายและดีไซน์ที่น่าสนใจ และเมื่อลูกค้าเข้ามายังเวปของคุณ พวกเขาต้องสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าคุณขายอะไร
8. อิมเพรสชั่น
การแสดงผลแสดงจำนวนครั้งที่โฆษณาหรือเนื้อหาชิ้นหนึ่งถูกมองเห็นโดยผู้ชม ไม่ว่าพวกเขาจะคลิกหรือไม่ก็ตาม มันเกี่ยวข้องกับแคมเปญ PPC โพสต์ในโซเชียลมีเดีย และเนื้อหาในบล็อก จำนวนการแสดงผลอิมเพรสชั่นที่สูง แสดงถึงการมองเห็นที่กว้างขวาง (มีคนเห็นจำนวนมาก) ซึ่งสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ แต่ไม่ได้รับประกันการมีส่วนร่วมหรือการขาย
หากคุณทำแคมเปญ PPC สำหรับร้านเสื้อผ้าออนไลน์บน Google และโฆษณาของคุณปรากฏ 1,000 ครั้งบนหน้าจอของผู้ใช้ ก็เท่ากับว่าคุณมียอดอิมเพรสชั่น 1,000 ครั้ง แต่จะไม่รู้ว่ามีคนกี่คนที่เห็นโฆษณานั้น หรือพวกเขาคลิกหรือซื้อหรือไม่ เพราะเลขนี้แสดงถึงการยอดการเผยแพร่ของโฆษณาคุณ
9. ยอด Reach
ตรงกันข้ามกับอิมเพรสชัน เพราะยอด Reach สามารถนับการดูหลายครั้งโดยบุคคลเดียวกัน และยอด Reach จะนับจำนวนคนแบบไม่ซ้ำที่เห็นคอนเทนต์ของคุณ
สมมติว่าคุณโพสต์วิดีโอโฆษณาบนหน้า Instagram ไม่กี่วันต่อมา คุณได้ยอด 1,200 ผู้ใช้ที่ไม่ซ้ำกันเห็นโพสต์นี้ นี่คือยอด Reach โพสต์ของคุณ แม้ผู้ใช้เหล่านี้จะเห็นโพสต์หลายครั้ง แต่พวกเขาจะถูกนับเพียงครั้งเดียวในเมตริกยอด Reach
หากคุณมียอด Reach สูง แสดงว่าคุณกำลังแจกจ่ายคอนเทนต์ไปยังกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดลูกค้าใหม่
10. ค่า Engagement
การมีส่วนร่วมของผู้ชม (ค่า Engagement) วัดความเกี่ยวข้องและความน่าสนใจของคอนเทนต์ของคุณ ซึ่งรวมถึงการคลิก ความคิดเห็น ไลค์ แชร์ และเวลาที่ใช้บนหน้า
ลองนึกภาพว่าคุณเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และโพสต์ลงบน TikTok โพสต์นั้นได้รับ 200 ไลค์ 50 คอมเมนท์ และ 30 แชร์ นอกจากนี้ หลายคนคลิกที่ลิงก์ในโพสต์เพื่อเข้าชมเว็บไซต์ การกระทำทั้งหมดนี้ถือเป็นการมีส่วนร่วม โดยทั่วไปแล้ว ค่า Engagement ที่สูงจะสัมพันธ์กับกลยุทธ์เนื้อหาที่มีประสิทธิภาพและการเชื่อมต่อกับผู้ชมของคุณ
11. ค่าเอ็นพีเอส
คะแนนผู้แนะนำสุทธิ (NPS) วัดความภักดีและความพึงพอใจของลูกค้าโดยรวม เมตริกนี้คำนวณโดยการสำรวจลูกค้าในระหว่างการชำระเงินและถามคำถามง่าย ๆ ว่า “จากคะแนน 1–10 คุณจะมีแนวโน้มแนะนำเราให้กับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวมากแค่ไหน?”
คำตอบเหล่านั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- ผู้แนะนำ: ลูกค้าที่ให้คะแนน 9–10
- ผู้ที่เป็นกลาง: ลูกค้าที่ให้คะแนน 7–8
- ผู้ที่ไม่พอใจ: ลูกค้าที่ให้คะแนน 6 หรือน้อยกว่า
แน่นอนว่า คะแนนที่สูงกว่าดีกว่า จากนั้นเพื่อหาคะแนนผู้แนะนำสุทธิของคุณ ให้ใช้สูตรนี้
NPS = % ของผู้แนะนำ - % ของผู้ที่ไม่พอใจ
ดังนั้น หากคุณมีผู้แนะนำ 80% ผู้ที่เป็นกลาง 15% และผู้ที่ไม่พอใจ 5% คุณจะคำนวณ 80 - 5 เพื่อให้ได้คะแนนผู้แนะนำสุทธิ 75
คะแนนผู้แนะนำสุทธิสามารถอยู่ในช่วงตั้งแต่ -100 ถึง 100 โดยหมายเลขลบเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ที่ไม่พอใจมากกว่าผู้แนะนำ
ตามที่ Inc. อ้างอิง คะแนนที่มากกว่า 0 ถือว่าดี คะแนนมากกว่า 50 ถือว่ายอดเยี่ยม และคะแนนมากกว่า 75 ถือว่าดีระดับสากล
ดังนั้น หากคุณได้ยอด NPS ประมาณ 20 หรือมากกว่านั้น ก็อย่ากังวลไป เพราะคุณยังทำได้ดีอยู่
12. อัตราการคลิกผ่าน (CTR)
อัตราการคลิกผ่าน (CTR) คืออัตราที่มีคนคลิกในแคมเปญอีเมล โฆษณา โพสต์ในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ และลงบนเว็บไซต์ของคุณ
ในการคำนวณอัตราการคลิกผ่าน ให้ใช้สูตรนี้
CTR = (# ของการคลิก / # ของการดู/การแสดงผล) x 100
แพลตฟอร์มการตลาดอีเมล หรือแพลตฟอร์มโฆษณาณควรเสนอข้อมูลนี้ในการวิเคราะห์เว็บ หรือแดชบอร์ดรายงาน ทำให้คุณสามารถประเมินความสำเร็จโดยรวมของแคมเปญการตลาดดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย
สำหรับโฆษณา Google อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมักเห็น CTR ที่ 1.66% สำหรับโฆษณาผ่านการ Search และ 0.45% สำหรับโฆษณาแสดงผล อย่างไรก็ตาม สำหรับแคมเปญอีเมล CTR จะอยู่ที่ประมาณ 2.01% (นอกจากนี้อัตราการเปิดอีเมลอีคอมเมิร์ซมักอยู่ที่ประมาณ 15.68%)
โดยรวมแล้ว อัตราการคลิกผ่านมักจะเป็นตัวเลขที่ต่ำ หากคุณเห็น CTR ที่ 2% หรือสูงกว่า ก็หมายถึงคุณทำได้ดีมาก!
13. เซสชันร้าน ตามแหล่งที่มาของการเข้าชม
รายงานเซสชันร้านค้าตามแหล่งที่มาของการเข้าชมจะแสดงจำนวนผู้เข้าชมที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณและวิธีที่พวกเขาเข้า
แหล่งที่มาของการเข้าชมที่พบบ่อยที่สุดคือ
- การค้นหา (Search): ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์ หลังคลิกจากผลการค้นหา
- โดยตรง: ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์โดยพิมพ์ URL โดยตรง
- โซเชียล: ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์โดยคลิกจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
- อีเมล: ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์ด้วยการคลิกจดหมายข่าวอีเมล
การดูสถิติเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณประเมินว่าช่องทางการตลาดใดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับธุรกิจ และแชนแนลใดที่อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการเพิ่มกลยุทธ์ SEO หรือสร้างรายชื่ออีเมล เพื่อเพิ่มการเข้าชมจากอีเมล
คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ในแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify
14. เซสชันร้าน ตามประเภทอุปกรณ์
คล้ายกับสถิติข้างต้น ส่วนนี้ในแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify จะแสดงผู้เข้าชมร้านค้าของคุณตามอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ในการเข้าถึงเว็บไซต์ อุปกรณ์จะปรากฏเป็นมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต
หากคุณมีผู้เข้าชมจำนวนมากที่เข้าถึงเว็บไซต์ของคุณผ่านมือถือ คุณจะต้องเน้นความสามารถในการแสดงผลเวปไซต์บนจอมือถือ เนื่องจากการมีเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ง่ายบนสมาร์ทโฟนสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมาก
15. เซสชันร้าน ตามสถานที่
เมตริกนี้จะแสดงในแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของร้าน Shopify ของคุณเช่นกัน ซึ่งจะแสดงสถานที่ว่าลูกค้าของคุณมาจากไหน ช่วยให้คุณปรับกลยุทธ์การตลาดและโปรโมชั่นผลิตภัณฑ์ตามสถานที่ที่กลุ่มลูกค้าหลักของคุณอาศัยอยู่
16. สินค้ายอดนิยมตามจำนวนที่ขายได้
สินค้าขายดีตามจำนวนที่ขายก็มีอยู่ในแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify เช่นกัน เมตริกนี้ช่วยให้ทราบว่าสินค้าใดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพื่อให้สามารถวางแผนล่วงหน้าและเตรียมการสำหรับการจัดการสินค้าในสต๊อกหรือการผลิตสินค้าเพิ่มเติมได้ดียิ่งขึ้น
17. ภาพรวมสินค้าคงคลังสิ้นเดือน
ภาพรวมสินค้าคงคลังสิ้นเดือนจะแสดงปริมาณของสินค้าแต่ละประเภทที่คุณมีในสต็อกตอนสิ้นเดือน คุณสามารถใช้ข้อมูลนี้ เพื่อหามูลค่ารวมของสินค้าในสต๊อกบนระบบ Shopify ของคุณ
18. สินค้าคงคลังเฉลี่ยที่ขายต่อวัน
เมตริกอีคอมเมิร์ซที่ไม่เหมือนใครอีกอย่างในแดชบอร์ดของ Shopify คือสินค้าในสต๊อกเฉลี่ยที่ขายต่อวัน ซึ่งแสดงจำนวนรายการที่ขายในแต่ละวันตามประเภทสินค้า
19. อัตราการคืนสินค้าและการคืนเงิน
อัตราการคืนสินค้าและการคืนเงิน เป็นการวัดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าคืนหรือแลกเปลี่ยน โดยอัตราการคืนสินค้าและการคืนเงินที่สูงอาจบ่งชี้ว่าสินค้ามีคุณภาพต่ำ หรือไม่ตรงตามความคาดหวังของลูกค้า หรือกระบวนการขายอาจมีความผิดพลาด ซึ่งการติดตามยอดนี้ ทำให้คุณสามารถรู้และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
สมมติว่าร้านค้าออนไลน์ที่คุณดำเนินการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คุณขายได้ 1,000 หน่วยในหนึ่งเดือน แต่คุณก็ได้รับการคืนสินค้าจำนวน 100 ชิ้น ซึ่งคิดเป็นอัตราการคืนสินค้า 10% หากอัตรานี้สูงผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐาน และอาจเป็นสัญญาณของปัญหากับสินค้า เช่น ปัญหาด้านคุณภาพ หรือของไม่ตรงปก
20. อัตราการเลิกใช้บริการ
อัตราการเลิกใช้บริการ คือตัวชี้วัดความสำเร็จของบริการสมัครสมาชิก ยอดนี้วัดเปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่หยุดใช้บริการของคุณในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น หากบริการส่งชุดอาหารแบบสมัครสมาชิกของคุณเริ่มต้นปีด้วยสมาชิก 1,000 คน และในตอนท้ายมี 200 คนยกเลิกการสมัคร อัตราการเลิกใช้บริการของคุณจะอยู่ที่ 20% (200 การยกเลิกจากสมาชิกเดิม 1,000 คน)
ด้วยข้อมูลเชิงลึกอีคอมเมิร์ซนี้ คุณสามารถประเมินการรักษาลูกค้าและหาสาเหตุที่ลูกค้ายกเลิกบริหาร เป็นวิธีที่คุณสามารถปรับปรุงบริการเพื่อรักษาลูกค้าและยอดขาย
ควรตรวจสอบเมตริกอีคอมเมิร์ซบ่อยแค่ไหน?
ไม่มีกรอบเวลาที่กำหนดในการตรวจสอบเมตริกอีคอมเมิร์ซ ในกรณีส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจและเป้าหมายเฉพาะที่คุณตั้งไว้ ซึ่งแนวทางโดยทั่วไป มีดังนี้
รายวัน
การติดตามยอดเมตริกแต่ละวันช่วยให้คุณเห็นปัญหาและโอกาสได้ทันที เช่น คุณอาจเห็นการลดลงอย่างกะทันหันในปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค หรือคุณอาจเห็นการเพิ่มขึ้นในอัตราคอนเวอร์ชัน เนื่องจากแคมเปญการตลาดที่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างเช่น อีเว้นท์ตามฤดูกาล อย่าง Black Friday ทำให้การติดตามเว็บไซต์ของคุณในแต่ละวันมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ให้ตรวจสอบเมตริกเช่น ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ อัตราคอนเวอร์ชันการขาย อัตราการละทิ้งรถเข็น และประสิทธิภาพการใช้จ่ายโฆษณาเพื่อให้ได้แนวคิดที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินงานในแต่ละวัน
รายสัปดาห์
ในการตรวจสอบรายสัปดาห์ คุณสามารถประเมินแนวโน้มระยะสั้นและประสิทธิภาพของแคมเปญการตลาดล่าสุด ตัวอย่างเช่น หากคุณสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน CAC อาจหมายความว่าโฆษณาของคุณกำลังมีประสิทธิภาพน้อยลงและคุณต้องปรับกลยุทธ์
เมตริกทั่วไปที่ควรติดตามในรายสัปดาห์ ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้า (CAC)
- มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV)
- การมีส่วนร่วมของลูกค้า (เช่น อัตราการเปิดอีเมลและการโต้ตอบในโซเชียลมีเดีย)
- ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์
รายเดือน
การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละเดือน ช่วยให้คุณเห็นแนวโน้มระยะยาวและสุขภาพโดยรวมของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การติดตามการเติบโตของรายได้ในแต่ละเดือนสามารถเปิดเผยว่าธุรกิจของคุณกำลังเติบโตหรือขาดทุน
เมตริกยอดนิยมที่ควรตรวจสอบในแต่ละเดือน ได้แก่
- การเติบโตของรายได้
- มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLV)
- การหมุนเวียนสินค้าคงคลัง
- ผลตอบแทนจากการใช้จ่ายโฆษณา (ROAS)
- ส่วนแบ่งการตลาด
รายไตรมาส/รายปี
การตรวจสอบรายไตรมาสและรายปีเป็นการประเมินที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมองภาพรวมของธุรกิจและเข้าใจว่าปัจจัยภายนอก เช่น แนวโน้มของตลาดและการแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณอย่างไร จากนั้นตั้งค่าหรือปรับกลยุทธ์ของคุณตามนั้น
ความสำคัญของเมตริกอีคอมเมิร์ซกับธุรกิจของคุณ
เราได้พูดถึงวิธีการวัดเมตริกสามารถช่วยให้เข้าใจถึงผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจ แต่ให้เราลงรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของเมตริกอีคอมเมิร์ซ
มี 3 เหตุผลใหญ่ที่ทำให้คุณต้องดูเมตริกธุรกิจของคุณอย่างน้อยเดือนละครั้ง ได้แก่ มันช่วยให้คุณติดตามการเติบโตและผลการดำเนินงาน, ช่วยให้คุณประเมินความต้องการสินค้าคงคลังในอนาคต และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของลูกค้า
เข้าใจผลการดำเนินงาน
การเข้าใจผลการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การดูยอดขายอีคอมเมิร์ซเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจการเติบโตและผลการดำเนินงานโดยรวม ซึ่งสำคัญกว่าการดูว่าคุณมียอดขายเท่าไหร่ในแต่ละวัน เพราะคุณยังต้องดูแนวโน้ม โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวเลขกำลังเพิ่มขึ้น
นี่คือตัวอย่างแดชบอร์ดการวิเคราะห์ของ Shopify
การดูเมตริกเช่น ยอดขายตามเวลา ยอดขายรวม การเยี่ยมชมร้านค้า และอื่น ๆ คุณจะสามารถประเมินได้ว่าธุรกิจของคุณกำลังเติบโตหรือไม่
หากกำลังเติบโต ให้ทำในสิ่งที่คุณทำอยู่ต่อไป แต่หากไม่ใช่ อาจถึงเวลาที่คุณต้องปรับกลยุทธ์การตลาดอีคอมเมิร์ซ เช็คให้แน่ใจว่ากระบวนการชำระเงินใช้งานง่าย หรืออัปเดตการออกแบบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้
การติดตามผลการดำเนินงานของร้านค้าออนไลน์ เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจว่ามีบางสิ่งในกลยุทธ์การตลาดหรือกลยุทธ์การขายที่ไม่เวิร์ก ซึ่งช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนและปรับตัวในอนาคตได้
ปรับยอดประมาณการขาย
อีกเรื่องที่ต้องทำ คือการให้ความสำคัญกับเทรนด์การช็อปปิ้ง เมื่อคุณใส่ใจในเมตริกและผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนซื้อ คุณสามารถปรับปรุงการคาดการณ์ยอดขายโดยรวมได้อย่างง่ายดาย
ดูสินค้าที่เป็นที่นิยม ค้นหาสิ่งที่คุณต้องผลิตหรือสั่งซื้อมากขึ้น รวมถึงรับแนวคิดเกี่ยวกับเทรนด์การซื้อ ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้จะสามารถทำให้คุณระบุได้ว่าเดือนหรือฤดูกาลใดที่ขายได้ช้ากว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีเวลามากขึ้นในการเตรียมแคมเปญและโปรโมชั่นการขายได้อย่างเหมาะสม
คุณยังสามารถประเมินรายได้รวม และสิ่งที่คาดหวังในเดือนหน้า ทำให้คุณมั่นใจมากขึ้นในการสั่งซื้อสินค้าในสต๊อกหรือแม้กระทั่งการจ้างงานใหม่
เข้าใจการมีส่วนร่วมของเว็บไซต์
การวิเคราะห์อีคอมเมิร์ซสามารถช่วยให้คุณเข้าใจว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะโต้ตอบกับร้านค้าออนไลน์ของคุณอย่างไร ลูกค้าทำคอนเวอร์ชันบ่อยแค่ไหน? หน้าผลิตภัณฑ์ใดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (และตรงกับผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงหรือไม่) คุณเห็นปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์โดยรวมเท่าไหร่?
การใส่ใจในข้อมูลการวิเคราะห์ Shopify และ Google Analytics สำหรับอีคอมเมิร์ซ ยังช่วยให้ระบุได้ว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้เว็บไซต์ของคุณอย่างไร สิ่งนี้สามารถช่วยให้คุณระบุได้ว่าเมนูและโฟลว์ของเว็บนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือคุณต้องปรับรูปแบบเพื่อให้กระบวนการราบรื่นขึ้น
ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ ติดตามคีย์เมตริกอีคอมเมิร์ซ
โอเค! ได้เวลาที่จะถอนหายใจอย่างโล่งอก คุณไม่จำเป็นต้องเช็คทุกตัวเลขเพื่อให้ธุรกิจเติบโต เพราะคุณมีลิสต์เมตริกเฉพาะที่จะช่วยให้คุณสร้างแผนและวัดผลได้
เมื่อคุณเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับการเข้าใจธุรกิจของคุณผ่านมุมมองของเมตริกเหล่านี้ คุณสามารถก้าวเข้าสู่ตัวเลขที่ละเอียดและซับซ้อนมากขึ้นได้เมื่อจำเป็น หากมีคำถามเกี่ยวกับธุรกิจที่เมตริกหลักไม่สามารถตอบได้ คุณก็จะพร้อมที่จะเพิ่มข้อมูลใหม่ ๆ ลงในการวิเคราะ และเราจะอยู่ที่นี่เพื่อช่วยคุณเมื่อเวลานั้นมาถึง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเมตริกอีคอมเมิร์ซ
KPIs ในอีคอมเมิร์ซคืออะไร?
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPIs) เพื่อประเมินความสำเร็จและประสิทธิภาพ KPIs เช่น อัตราคอนเวอร์ชัน มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายในการดึงดูดลูกค้า ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ และอัตราการละทิ้งรถเข็น ทั้งหมดนี้สามารถช่วยให้คุณทราบว่าการทำการตลาดในอีคอมเมิร์ซของคุณมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด
KPIs สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคืออะไร?
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมี KPIs ที่วัดประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ เพื่อกำหนดสุขภาพโดยรวมและความน่าสนใจของตลาดของแพลตฟอร์ม โดยให้ดูที่เมตริก เช่น ปริมาณการเข้าชม อัตราการดึงดูดผู้ใช้และการรักษาลูกค้า อัตราคอนเวอร์ชัน เวลาที่ใช้บนแพลตฟอร์มเฉลี่ย และรายได้ต่อผู้ใช้
KPIs ความสามารถในการทำกำไรของอีคอมเมิร์ซ คืออะไร?
KPIs สำหรับความสามารถในการทำกำไรของอีคอมเมิร์ซ คือเมตริกทางการเงินที่บอกคุณว่าธุรกิจออนไลน์ทำเงินหรือไม่ ซึ่งรวมถึงอัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLV) และต้นทุนสินค้าที่ขาย (COGS) เมตริกเหล่านี้รวมกันจะให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงินของการดำเนินงานอีคอมเมิร์ซของคุณ